คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิในที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแบ่งที่ดินพิพาทนี้ โดยระบุว่าเป็นทรัพย์มรดก จำเลยจะแบ่งให้โจทก์ตามส่วนและข้อตกลง เมื่อโอนให้โจทก์แล้ว โจทก์จะต้องแบ่งให้บุตร4 คนของโจทก์ครึ่งหนึ่งของที่ดินที่โจทก์ได้รับ โจทก์จำเลยตกลงจะไปโอนที่ดินภายใน 30 วันนับแต่วันทำสัญญาและบุตรโจทก์ 4 คนนั้นต้องชำระเงินให้จำเลย 2,000 บาท จำเลยจึงจะโอนให้ตามกำหนด โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแรกขอให้ศาลบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทให้ตามสัญญา คดีนั้นศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือว่าสัญญาให้ และวินิจฉัยว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งฝ่ายโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ ก็จะฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์ไม่ได้โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้ว่าโจทก์ได้เสนอจะปฏิบัติการชำระหนี้แล้ว ขอให้บังคับให้จำเลยรับเงินและโอนที่พิพาทให้โจทก์ อันมีประเด็นโต้เถียงกันว่ากรณีเช่นนี้จำเลยจะต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์เพียงใดหรือไม่จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้ว ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
การที่จำเลยตกลงทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์นั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะแบ่งที่พิพาทให้บุตรโจทก์คือ น.และผู้ร้องสอดทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญาด้วย และได้ความว่าผู้ร้องสอดทั้งสามได้แสดงเจตนาที่จะรับที่ดินส่วนที่จำเลยแบ่งให้แล้ว ผู้ร้องสอดทั้งสามจึงมีสิทธิร้องสอดเข้ามาเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินส่วนของตนได้โดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์จะอ้างว่าจำเลยต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ผู้เดียวก่อนหาได้ไม่ และคำร้องสอดเช่นว่านี้เป็นกรณีขอให้บังคับจำเลยตามสัญญา มิได้ขอให้บังคับโจทก์แต่อย่างใดจึงมิใช่เป็นการฟ้องโจทก์ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1534
กำหนดเวลาตามสัญญาดังกล่าวนั้น มีความหมายที่จะให้จำเลยปฏิบัติการโอนที่ดินให้โจทก์ภายในเวลา 30 วัน ส่วนข้อความตอนท้ายที่จะให้บุตรโจทก์ชำระเงินตอบแทนนั้น ก็มีความหมายเพียงว่าหากบุตรโจทก์ไม่ชำระเงิน จำเลยก็ยังไม่ต้องโอนที่ดินให้ตามกำหนดกำหนดเวลาตามสัญญานี้จึงมิใช่ข้อที่คู่สัญญาตกลงให้ฝ่ายโจทก์ชำระเงินภายใน 30 วันการที่โจทก์เสนอชำระเงินภายหลังจึงไม่เป็นการผิดสัญญาและเมื่อโจทก์และผู้ร้องสอดได้ขอชำระเงิน 2,000 บาทให้จำเลยแล้ว จำเลยก็ต้องโอนที่ดินให้โจทก์และผู้ร้องสอด
ตามนัยของสัญญา น.และผู้ร้องสอดทั้งสามซึ่งเป็นบุตรโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 4 ของครึ่งหนึ่งของที่พิพาท บุตรโจทก์แต่ละคนจึงต่างก็มีสิทธิเรียกร้องเอาส่วนของตนจากจำเลยได้ เมื่อมีคนใดไม่ใช้สิทธิของตนหรือแสดงเจตนาสละสิทธิของตน ย่อมไม่เป็นเหตุให้ผู้มีสิทธิคนอื่นจะไปใช้สิทธิให้นอกเหนือไปจากสัญญาได้ผู้ร้องสอดจะอ้างว่าพวกตน 3 คนควรได้รับส่วนแบ่งรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของส่วนที่จำเลยจะต้องโอนให้หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรนายโดบ นางโหมด นายโดบนางโหนดถึงแก่กรรม โดยมีที่ดินแปลงหนึ่งเป็นที่บ้านและสวนเนื้อที่ 14 ไร่ เป็นทรัพย์มรดกได้แก่โจทก์และจำเลย ได้ตกลงแบ่งที่ดินออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ในปีที่ตกลงแบ่งส่วนที่ดินกันนั้นจำเลยได้ยื่นคำขอรับมรดกที่ดินทั้งแปลง ทางอำเภอได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินให้โดยใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยใส่ชื่อโจทก์ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินส่วนของโจทก์ โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยจะโอนที่ดินส่วนของโจทก์ให้โจทก์ภายใน 30 วันนับแต่วันทำสัญญา เมื่อโอนแล้วโจทก์จะต้องแบ่งที่ดินให้บุตรของโจทก์ 4 คนกึ่งหนึ่ง และบุตรของโจทก์ทั้งสี่คนต้องให้เงินจำเลยเป็นจำนวน 2,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญาโจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาล ศาลฎีกาพิพากษาว่าสัญญาประนีประนอมอมความนี้เป็นสัญญาก่อให้เกิดหนี้โดยมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนตราบใดที่ฝ่ายโจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้โดยชำระเงินให้จำเลย 2,000 บาทแล้ว โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์หาได้ไม่ ดังนั้น โจทก์ได้ส่งเงินให้จำเลย 2,000 บาททางธนาณัติ และนัดให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินให้โจทก์จำเลยไม่ยอมรับเงิน และไม่ไปโอนที่ดินให้โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับเงิน 2,000 บาทจากโจทก์ และโอนที่ดินที่พิพาทให้โจทก์หากจำเลยไม่ยอม ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงแบ่งที่พิพาทให้โจทก์สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์นำมาฟ้องเกี่ยวกับที่ดินแปลงอื่นและยังมีเงื่อนไขว่าบุตรของโจทก์ทั้งสี่คนต้องให้เงินจำเลย 2,000 บาท ฉะนั้น หากจะฟังว่าสัญญาที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับที่พิพาท โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยแบ่งให้ครึ่งหนึ่ง และเมื่อตกลงกันไม่ได้ จำเลยก็ไม่ต้องแบ่งให้การที่โจทก์ส่งเงิน 2,000 บาทให้จำเลยเอง ไม่ชอบด้วยเงื่อนไขแห่งสัญญาเมื่อบุตรทั้งสี่คนของโจทก์ไม่ชำระเงินให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ โจทก์จงใจผิดสัญญา จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแต่ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีแรกแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกเป็นฟ้องซ้ำ

นายเผน นางปราณี และนายประชา ยื่นคำร้องว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายฟ้อง โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งที่พิพาทให้ผู้ร้องครึ่งหนึ่งโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้ร้องชำระเงิน 2,000 บาทให้จำเลย ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในคดีโดยตรง และผู้ร้องเคยแจ้งให้จำเลยรับเงิน 2,000 บาท และให้จำเลยโอนที่พิพาทให้ผู้ร้องครึ่งหนึ่งหลายครั้งแล้วแต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติ การดำเนินคดีนี้อาจมีผลให้ที่พิพาทซึ่งผู้ร้องมีสิทธิอยู่ถูกโอนให้โจทก์ไป ทำให้ผู้ร้องเสียหาย ผู้ร้องจึงขอร้องสอดเข้ามาดำเนินคดีกับจำเลย โดยขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับเงินจากผู้ร้อง 2,000 บาท และโอนที่พิพาทให้ผู้ร้องครึ่งหนึ่งหากไม่ยอมโอน ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

ศาลชั้นต้นสอบถามแล้ว โจทก์แถลงว่าผู้ร้องเป็นบุตรของโจทก์และจำเลยแถลงรับว่าผู้ร้องมีสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความจริงศาลจึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นผู้ร้องสอดได้ โจทก์แถลงคัดค้านว่า การที่ผู้ร้องร้องสอดเข้ามาเท่ากับเป็นการฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นบิดาเป็นคดีอุทลุม และผู้ร้องไม่มีสิทธิตามสัญญา ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องสอด จำเลยแถลงว่าผู้ร้องไม่เคยเสนอชำระเงิน 2,000 บาท ให้จำเลย แต่จำเลยยอมแบ่งที่ดินให้ผู้ร้องตามสัญญา และไม่ติดใจยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด

โจทก์จำเลยและผู้ร้องสอดไม่ติดใจสืบพยาน ให้ศาลพิพากษาคดีไปตามพยานหลักฐานในสำนวนคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชหมายเลขแดงที่ 629/2510 กับพยานหลักฐานเท่าที่มีอยู่แล้วในสำนวนนี้

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และผู้ร้องสอดร่วมกันชำระเงิน 2,000 บาทให้จำเลย ให้จำเลยโอนที่พิพาทซึ่งอยู่ทางด้านใต้ให้โจทก์และผู้ร้องสอดทั้งสาม หากจำเลยไม่โอน ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสามแบ่งที่ดินที่จำเลยโอนให้ระหว่างกันเองโดยให้ผู้ร้องสอดทั้งสามได้ที่ดินจำนวน 3 ใน 8 ส่วน หากการแบ่งที่ดินไม่อาจปฏิบัติได้ก็ให้ประมูลราคากัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ให้นำออกขายทอดตลาดแบ่งเงินกันตามส่วน โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้ร้องสอดไม่มีสิทธิร้องสอด เพราะเป็นการฟ้องโจทก์ผู้เป็นบิดาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 และตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุชัดแจ้งว่า จำเลยต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ก่อน แล้วโจทก์จึงเป็นผู้แบ่งให้แก่บุตรโจทก์ต่อไป จึงต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์แต่ผู้เดียว

จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้าม ฯลฯ

ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องสอดควรได้ส่วนแบ่งรวมกันครึ่งหนึ่งหรือสี่ในแปดส่วนตามสัญญา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ จำเลย และผู้ร้องสอดฎีกา

โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องสอดเป็นบุตรโจทก์ ไม่มีสิทธิร้องสอดเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 และตามสัญญาระบุว่าจำเลยต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ผู้เดียวก่อน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดเจนเช่นเดียวกันว่า โจทก์จะต้องแบ่งให้กับบุตรทั้งสี่คนของโจทก์ครึ่งหนึ่งของที่ดินส่วนที่จำเลยแบ่งให้ ข้อสัญญาที่ระบุตอนท้ายว่าบุตรของโจทก์ทั้งสี่คนต้องให้เงินแก่จำเลยเป็นจำนวน2,000 บาท จำเลยจึงจะโอนให้ ดังนี้ เห็นได้ว่า การที่จำเลยตกลงทำสัญญากับโจทก์นั้น จำเลยเจตนาจะแบ่งที่พิพาทให้ผู้ร้องสอดทั้งสามและนายนงค์ซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญาด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องสอดทั้งสามได้แสดงเจตนาที่จะรับที่ดินส่วนที่จำเลยแบ่งให้แล้ว จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินส่วนของตนได้โดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 จำเลยไม่จำต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ผู้เดียวก่อน และคำร้องของผู้ร้องสอดเป็นกรณีขอให้บังคับจำเลยตามสัญญา มิได้ขอให้บังคับโจทก์แต่อย่างใดจึงมิใช่เป็นการฟ้องโจทก์ ไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังที่โจทก์อ้าง

จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรกที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยโอนที่พิพาทให้เช่นเดียวกัน เห็นว่า ในคดีแรกศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาให้ และวินิจฉัยว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่เป็นสัญญาต่างตอบแทน ก่อให้เกิดหนี้ขึ้นใหม่ตามสัญญา เมื่อฝ่ายโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ก็จะฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์ไม่ได้ ส่วนคดีนี้โจทก์ได้เสนอจะปฏิบัติการชำระหนี้แล้วมีประเด็นโต้เถียงกันว่ากรณีเช่นนี้จำเลยจะต้องโอนที่พิพาทให้จำเลยเพียงใดหรือไม่จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

สำหรับข้อที่จำเลยอ้างว่าในสัญญาไม่ได้กำหนดว่า จะแบ่งที่ดินให้เท่าใด และโจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้ก็ดี ที่ดินตามสัญญาท้ายฟ้องที่โจทก์ขอแบ่งกับที่ดินที่โจทก์ครอบครองถือสิทธิอยู่เป็นที่ดินต่างแปลงกันก็ดี เมื่อพิเคราะห์ถึงประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดในวันชี้สองสถานประกอบกับคำแถลงสละประเด็นบางข้อของโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นประเด็นที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จึงไม่วินิจฉัยให้

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์หรือบุตรโจทก์ไม่เคยเสนอจะชำระเงิน 2,000 บาทให้จำเลย เป็นเวลาล่วงเลยมาถึง 6 ปี โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้วนั้น เห็นว่า ตามสัญญาระบุถึงกำหนดเวลาไว้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะโอนที่ดินให้เสร็จสิ้นใน 30 วันนับแต่วันทำสัญญา และมีข้อความตอนท้ายว่าบุตรของโจทก์ทั้งสี่คนต้องให้เงินจำนวน 2,000 บาท จำเลยจึงจะโอนให้ตามกำหนดนั้น กำหนดเวลาดังกล่าวมีความหมายที่จะให้จำเลยปฏิบัติการโอนที่ดินให้โจทก์ภายในเวลา 30 วัน ส่วนข้อความตอนท้ายที่จะให้บุตรโจทก์ชำระเงินตอบแทนก็มีความหมายเพียงว่าหากบุตรโจทก์ยังไม่ชำระเงินจำเลยก็ยังไม่ต้องโอนที่ดินให้ตามที่กำหนด แม้จำเลยเองก็เบิกความว่าจำเลยได้ไปขอโอนที่ดินให้โจทก์และบุตรโจทก์ แต่โจทก์จะให้โอนที่พิพาททั้งหมดให้โจทก์ผู้เดียวจำเลยจึงไม่ยอมโอนให้ กำหนดเวลาตามสัญญานี้จึงมิใช่ข้อที่คู่สัญญาตกลงให้ฝ่ายโจทก์ชำระเงินภายใน 30 วันนับแต่วันทำสัญญา การที่ฝ่ายโจทก์เสนอชำระเงินภายหลัง ไม่เป็นการผิดสัญญา และเมื่อโจทก์และบุตรโจทก์ผู้ร้องสอดได้ขอชำระเงิน 2,000 บาทให้จำเลยแล้ว จำเลยก็ต้องโอนที่ดินให้โจทก์และผู้ร้องสอด

ส่วนที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ผู้ร้องสอดทั้งสามคนควรได้รับส่วนแบ่งรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของส่วนที่จำเลยต้องโอนให้นั้นเห็นว่า ตามสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยที่ผู้ร้องสอดอ้างเป็นหลักแห่งคำร้องได้ระบุชื่อผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งไว้ชัดว่า คือผู้ร้องทั้งสาม และนายนงค์ที่จะได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของที่ดินที่จำเลยจะแบ่งให้ตามที่ตกลงกันแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งผู้ร้องสอดทั้งสามและนายนงค์มีสิทธิได้รับคนละหนึ่งส่วนในสี่ส่วนของครึ่งของที่พิพาทบุตรโจทก์ผู้มีชื่อแต่ละคนจึงต่างมีสิทธิที่จะเรียกร้องส่วนของตนจากจำเลยได้ ฉะนั้น เมื่อผู้มีสิทธิคนใดไม่ใช้สิทธิของตนหรือแสดงเจตนาสละสิทธิของตนก็ตามก็ไม่เป็นเหตุที่ผู้มีสิทธิคนอื่นจะไปใช้สิทธิของผู้นั้นให้นอกเหนือไปจากสัญญาได้ ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิได้เพียงส่วนของตนที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น

พิพากษายืน

Share