แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่ออันยอมความได้นั้นแม้ว่าหนังสือร้องทุกข์จะมีข้อความว่า”จึงได้ร่วมกันมาแจ้งความร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี”และผู้เสียหายที่มิได้ลงชื่อในหนังสือร้องทุกข์ได้ให้การในชั้นสอบสวนว่าถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงให้หลงเชื่อจึงมอบเงินให้ไปก็ตามเมื่อปรากฏว่าหนังสือร้องทุกข์นั้นคงมีแต่ลายมือชื่อของบ.เท่านั้นจะฟังว่าผู้เสียหายอื่นร้องทุกข์ด้วยไม่ได้การสอบสวนต่อมาสำหรับผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์จึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตร2(7),123วรรคสามและ121วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 629,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสุวิทย์ ภูมิโคกรักษ์ นายประดิษฐ์คุขุนทด และนายพูนศักดิ์ คุขุนทด ยื่นคำแถลงขอถอนคำร้องทุกข์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 344,000 บาทแก่นายบุญมี สามขุนทด นายอำนวย พรมสายออ นายเรืองเดช ปุยสูงเนินและนายขวัญชัย แสไพศาล ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้เสียหายทั้งเจ็ดได้มอบเงินเป็นจำนวนมาก 569,000 บาท ให้พวกของจำเลยคนหนึ่งไปโดยพวกของจำเลยได้ทำหลักฐานการรับเงินไว้ให้ ตามเอกสารหมาย ป.ล.1 ป.ล.2 (ศาลจังหวัดสีคิ้ว) ซึ่งในเอกสารดังกล่าวระบุว่าเป็นการมอบเงินเพื่อให้พวกของจำเลยไปดำเนินการส่งผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาพวกของจำเลยหลบหนี
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า ผู้เสียหายที่ยังไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่เห็นว่า ตามฎีกาโจทก์ยอมรับว่านายบุญมีสามขุนทด ลงลายมือชื่อเป็นผู้ร้องทุกข์ในเอกสารหมาย จ.1เพียงคนเดียว ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้จะมีนายบุญมีลงลายมือชื่อเพียงคนเดียว แต่ในเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่า “จึงได้ร่วมกันมาแจ้งความร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี” และผู้เสียหายที่มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือร้องทุกข์ได้ให้การชั้นสอบสวนว่า ถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงให้หลงเชื่อจึงมอบเงินให้ไป จึงถือว่าร้องทุกข์แล้วนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) ให้คำนิยามคำว่า “คำร้องทุกข์”หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ และในมาตรา 123 วรรคสาม บัญญัติถึงวิธีการจัดให้มีคำร้องทุกข์ว่า คำร้องทุกข์นี้จะทำเป็นหนังสือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปี และลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปากให้พนักงานสอบสวนทำบันทึกไว้ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น และมาตรา 121 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบแต่จากเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นแบบคำร้องทุกข์คงมีแต่ลายมือชื่อนายบุญมี สามขุนทด เท่านั้น จะฟังว่าผู้เสียหายอื่นร้องทุกข์ด้วยไม่ได้ การสอบสวนต่อมาสำหรับผู้เสียหายที่มิได้ร้องทุกข์จึงไม่ชอบ
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปคือในส่วนที่เกี่ยวกับนายบุญมีผู้เสียหายที่ยังไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์นั้น พยานหลักฐานของโจทก์ฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน