คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2730/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 และประเภท 2เป็นความผิดที่มีบทความผิดและบทลงโทษคนละมาตราต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกระทงอย่างชัดแจ้งแม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องแยกเป็นกระทง ๆ ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นความผิดสองกระทงทั้งคำฟ้องตอนต้นได้บรรยายไว้แล้วว่าเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ คำขอท้ายฟ้องก็อ้างป.อ. มาตรา 91 ไว้แล้ว ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันผลิตและร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 และประเภท 2 ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายกับจำเลยกับพวกร่วมกันมีอีเธอร์และคลอโรฟอร์ม ซึ่งเป็นโภคภัณฑ์ที่ถูกควบคุมไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 16, 17,65, 66, 69, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528มาตรา 4, 5, 6, 10 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522)เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2522 ข้อ 1, 2พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 มาตรา 1, 3, 4, 5, 6, 9พระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2525 มาตรา 5กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2522) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 15(พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 68วรรคสอง, 69 วรรคสี่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 มาตรา 5, 6 พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 มาตรา9 การกระทำความผิดของจำเลยฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน)เพื่อจำหน่ายแล้วมียาเสพติดให้โทษนั้นไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (มอร์ฟีน) เพื่อผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) เพื่อจำหน่ายต่อไป เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) เพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต ลงโทษฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 (มอร์ฟีน ฝิ่นและโคคาอีน) ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 20 ปี และลงโทษฐานมีไว้ในความครอบครอง ซึ่งโภคภัณฑ์ที่ถูกควบคุมตามพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 2 ปีคำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบกับมาตรา 52 คงลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี 10 ปี และ 1 ปี ตามลำดับรวมให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 61 ปี แต่ลงโทษจำคุกจำเลยได้เพียง50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4จึงลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 50 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15 วรรคสอง, 16, 17 วรรคสอง,66 วรรคแรก, 69 วรรคสี่ ที่แก้ไขแล้ว เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 66 วรรคแรก จำคุก 21 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 14 ปี รวมกับโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานมีโภคภัณฑ์ที่ถูกควบคุมไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 1 ปี รวมเป็นจำคุกทั้งสิ้น 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ว่า ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 และประเภท 2 ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องแยกกระทงเรียงลำดับกันไป ศาลจะลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดได้หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1และประเภท 2 เป็นความผิดที่มีบทความผิด และบทลงโทษคนละมาตราต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกระทงอย่างชัดแจ้ง ตามฟ้องของโจทก์กรณีนี้มีความผิดเพียง 2 กระทงเท่านั้น ไม่สับสน แม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องแยกเป็นกระทง ๆ ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นความผิด 2 กระทง ทั้งคำฟ้องตอนต้นได้บรรยายไว้แล้วว่าเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ คำขอท้ายฟ้องก็อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไว้แล้ว ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้
ปัญหาที่ว่า จำเลยจะมีความผิดฐานมีโภคภัณฑ์ที่ถูกควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและให้รวมโทษจำคุก 1 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย เท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 และประเภท2 ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยเคยผลิตยาเสพติดให้โทษจำหน่ายมาแล้วและมียาเสพติดให้โทษของกลางไว้เพื่อจำหน่ายต่อไปอีกมีอุปกรณ์ในการผลิตจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดที่เป็นภัยร้ายแรง จึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกกระทงละ 20 ปี ฎีกาโจทก์และจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66วรรคแรก ให้จำคุก 20 ปี ฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 69 วรรคสี่ที่แก้ไขแล้ว ให้จำคุก 20ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์คงลงโทษจำคุกกระทงละ 10 ปี เมื่อรวมโทษฐานมีโภคภัณฑ์ที่ถูกควบคุมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปีแล้ว รวมเป็นโทษจำคุก21 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share