แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
มีผู้ลักเช็คของโจทก์ไปปลอมลายมือชื่อโจทก์สั่งจ่ายเงิน100,000 บาท แล้วนำไปเบิกเงินจากธนาคารจำเลยที่ 3 ซึ่งโจทก์มีบัญชีกระแสรายวันอยู่ จำเลยที่ 1 ผู้ช่วยสมุห์บัญชีและจำเลยที่ 2ผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ตรวจลายมือชื่อลูกค้าอยู่ประจำย่อมมีความชำนาญในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของลูกค้ามากกว่าคนธรรมดา ถ้าใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่โดยละเอียดรอบคอบจะต้องทราบว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือชื่อปลอมแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังจึงไม่ทราบและอนุมัติให้จ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ แม้จะมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของจำเลยไว้ตามหนังสือขอเปิดบัญชีกระแสรายวันก็ตาม จำเลยก็จะอ้างมาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 หนี้ละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร แม้จำเลยจะมิได้ให้การว่าโจทก์จะต้องร่วมรับผิดด้วยก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างประมาทเลินเล่อด้วยกัน ศาลกำหนดให้จำเลยรับผิดเพียงกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายทั้งหมดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีของธนาคารจำเลยที่ 3 สาขาเตาปูน มีหน้าที่ตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเงิน จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 3สาขาเตาปูน มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการงานของจำเลยที่ 3สาขาเตาปูนทั้งหมด โจทก์มีบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันที่ธนาคารจำเลยที่ 3 สาขาเตาปูน เลขที่ 201 จำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2523 จำเลยที่ 1ได้ตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเงินในเช็คเลขที่ ที.พี. 3064795ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2523 จำนวนเงิน 100,000 บาท ได้รับรองลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นของโจทก์และจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ผู้นำเช็คมาเบิกเงินไปโดยหักเงินจากยอดเงินในบัญชีของโจทก์และลงบัญชีว่าโจทก์เป็นผู้เบิกเงินเกินบัญชีไป ทั้งนี้ลายมือชื่อดังกล่าวมิใช่เป็นของโจทก์ เนื่องจากมีผู้ลักเช็คดังกล่าวไปจากโจทก์นำไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้ตรวจลายมือชื่อด้วยความระมัดระวังตามหน้าที่ของตน ส่วนจำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการมีหน้าที่ต้องตรวจสอบควบคุมดูแลงานในสาขาปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท จึงเกิดความเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ทำให้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่15 กรกฎาคม 2523 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,177 บาท 41 สตางค์การร่วมกันทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างให้กับจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 134,177 บาท 41 สตางค์กับดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จจำเลยทั้งสามให้การว่า เช็คดังกล่าวสูญหายเพราะความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ ในการเปิดบัญชีกระแสรายวันของโจทก์กับจำเลยที่ 3 นั้น โจทก์ทราบระเบียบของจำเลยที่ 3 แล้วยินยอมปฏิบัติตามระเบียบการข้อ 8 ความว่า เมื่อเช็คซึ่งผู้ฝากยังมิได้สั่งจ่ายสูญหายด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ฝากเองและเกิดมีบุคคลใดที่ไม่สุจริตนำไปปลอมลายมือชื่อของผู้ฝากสั่งจ่ายผู้ฝากยอมรับว่าธนาคารปราศจากความรับผิดชอบใด ๆ ต่อความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นทั้งสิ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2523 โจทก์ได้เบิกรับเช็คเลขที่ ที.พี. 3064781-3064800 จากจำเลยที่ 3 สาขาเตาปูนวันที่ 4 สิงหาคม 2523 โจทก์ได้เบิกรับเช็คจากจำเลยที่ 3 สาขาเตาปูน เลขที่ 3066041-3066060 ไปอีก ซึ่งถ้าโจทก์ไม่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ และเช็คดังกล่าวมีผู้ลักไปจริง โจทก์ต้องรู้ว่าเช็คหาย โจทก์มิได้แจ้งว่าเช็คถูกลักไปให้จำเลยที่ 3 ทราบ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามระเบียบการข้อ 8ของจำเลยที่ 3 ซึ่งโจทก์ยอมเข้าผูกพัน ลายมือชื่อในเช็คดังกล่าวเป็นของโจทก์ พนักงานของจำเลยที่ 3 ตรวจสอบลายมือชื่อถูกต้องจึงได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ทรงไป ขอให้พิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2524 ในต้นเงิน 50,000 บาท ให้คิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงไร ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่ามีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์สั่งจ่ายเงินในเช็คพิพาท เอกสารหมาย จ.1นำไปเบิกเงินที่ธนาคารจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติให้จ่ายเงินได้โดยเบิกความว่า ได้ตรวจลายมือชื่อในเช็คพิพาทแล้วเห็นว่าเหมือนกับลายมือชื่อตัวอย่างของโจทก์ในเอกสารหมาย จ.2จำเลยที่ 2 จึงอนุมัติการจ่ายเงินไป ศาลฎีกาได้นำลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเอกสารหมาย จ.1 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อตัวอย่างของโจทก์ในเอกสารหมาย จ.2 แล้ว แม้ดูโดยผิวเผินน่าจะมีส่วนคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าตรวจดูอย่างละเอียดรอบคอบแล้วจะเห็นว่าคุณสมบัติในการเขียนและรูปร่างลักษณะตัวอักษรแตกต่างกัน เมื่อคำนึงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจลายมือชื่อของลูกค้าโดยตรงอยู่ตลอดเวลา จำเลยทั้งสองย่อมมีความชำนาญในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของลูกค้ามากกว่าคนธรรมดา หากจำเลยทั้งสองได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยละเอียดรอบคอบตรวจสอบลายมือชื่อตามควร ก็จะต้องทราบว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ร้อยตำรวจเอกกิจจา สุนทรสซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลได้ใช้เวลาตรวจพิสูจน์ลายมือของโจทก์เปรียบเทียบกับลายมือในเช็คเอกสารหมาย จ.1 ประมาณ 5 วันนั้นก็เพื่อให้ได้ความแน่นอนชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการใช้กล้องขยายและถ่ายภาพลายมือที่จะนำมาเทียบเคียงกัน ดังนั้นจะนำระยะเวลาการตรวจของร้อยตำรวจเอกกิจจามาเทียบกับของจำเลยที่ 1 ที่ 2 หาได้ไม่ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยฎีกาอีกว่าโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อเช็คยังมิได้สั่งจ่ายสูญหายด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง และมีผู้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ไปเบิกเงินเช่นนี้ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ ตามหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.ล.1 ข้อ 8 นั้น เห็นว่ากรณีนี้จำเลยจะต้องรับผิดในผลของการกระทำละเมิด ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้นแม้จะมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามหนังสือขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.ล.1 ข้อ 8 ก็ตามแต่การกระทำของจำเลยในส่วนที่เป็นการผิดสัญญานี้ก็เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงดังที่ได้วินิจฉัยไปแล้ว จำเลยจะอ้างข้อตกลงดังกล่าวเพื่อปฏิเสธความรับผิดของตนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 และที่จำเลยฎีกาว่าตามมาตรา 1008แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย คู่สัญญาตกลงกันเป็นพิเศษแตกต่างกับบทบัญญัติมาตรา 1008 ได้ ข้อตกลงล่วงหน้าจึงมีผลบังคับได้นั้น เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมและการให้สัตยาบัน ไม่ใช่เป็นข้อตกลงอย่างของโจทก์จำเลยตามหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.ล.1 ข้อ 8ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์
ปัญหาต่อไปมีว่าโจทก์เสียหายเพียงใด ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า การเก็บสมุดเช็คของโจทก์นั้นปกติจะเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานซึ่งอยู่ที่บ้านโจทก์เองและใส่กุญแจลิ้นชักไว้แต่มีบางครั้งโจทก์เอาเก็บไว้ในรถยนต์ของโจทก์ การที่โจทก์เก็บสมุดเช็คไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานบ้าง และในรถยนต์บ้างเช่นนี้ทำให้เช็คใบหนึ่งหายไปจากสมุดเช็คดังกล่าวโดยโจทก์ไม่ทราบเลยจนกระทั่งโจทก์ไปขอซื้อสมุดเช็คเล่มใหม่จากธนาคาร จำเลยที่ 3จึงทราบเรื่อง พฤติการณ์ของโจทก์เช่นนี้นับได้ว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังเก็บรักษาสมุดเช็คดังกล่าวด้วยความรอบคอบ นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกกิจจาพยานโจทก์เบิกความว่า การปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทรายนี้ใช้วิธีเลียนแบบ การเลียนแบบนั้นจะต้องมีแบบ ถ้าเป็นผู้ใกล้ชิดกับเจ้าของลายมือชื่อก็จะเป็นการง่ายในกรณีที่มีการปลอมลายมือชื่อโจทก์โดยวิธีเลียนแบบนี้อาจจะเป็นคนใกล้ชิดโจทก์เองก็ได้ เมื่อโจทก์ขาดความระมัดระวังในการเก็บรักษาจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ต่อสู้ว่าโจทก์จะต้องร่วมรับผิดด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้โจทก์ร่วมรับผิดกับจำเลยจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าแม้จำเลยจะมิได้ให้การว่าโจทก์จะต้องร่วมรับผิดด้วยก็ตาม แต่ว่าหนี้ละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร กรณีนี้โจทก์จำเลยต่างก็ขาดความระมัดระวังด้วยกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 50,000 บาทนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน