แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตำแหน่งหัวหน้าเสมียนคดี มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางจำเลยตรวจรับกัญชาของกลางและลงลายมือชื่อในสำเนาบัญชีของกลางกับสำเนาหนังสือนำส่งของกลางของสถานีตำรวจภูธรอำเภอทับสะแกแต่ไม่ลงบัญชีของกลางในคดีอาญาของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการรับกัญชาของกลางรายนี้แล้วต่อมาจำเลยเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริตการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การที่จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางไว้แล้วไม่นำลงบัญชีของกลางในคดีอาญา ก็โดยเจตนาที่จะเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157,91 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 4 ปีฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริตจำคุก 8 ปี รวมจำคุก 12 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำคุก 8 ปีโจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตำแหน่งหัวหน้าเสมียนคดี มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2528 ร้อยตำรวจตรีทัศน์ บุญวงศ์รองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจภูธรอำเภอทับสะแกกับพวกนำกัญชาแห้ง 862 ถุง หนัก 1,861.5 กิโลกรัม ราคาสองล้านบาท ซึ่งเป็นของกลางในคดีถึงที่สุดแล้วส่งให้กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อจัดการทำลาย ตามคำสั่งของพันตำรวจโทอุบล สันติปรีชาวัฒน์ รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำเลยตรวจรับกัญชาของกลาง และลงลายมือชื่อในสำเนาบัญชีของกลางและสำเนาหนังสือนำส่งของกลางของสถานีตำรวจภูธรอำเภอทับสะแก แต่ไม่ลงบัญชีของกลางในคดีอาญาของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการรับกัญชาของกลางรายนี้ไว้ ต่อมาปรากฏว่า ของกลางรายนี้ได้หายไปจากห้องเก็บของกลางทั้งหมด ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยไม่มีพิรุธแต่อย่างใด การที่จำเลยไม่ลงบันทึกว่ามีการรับของกลางรายพิพาทในบัญชีของกลางในคดีอาญาเพราะไม่มีระเบียบของกรมตำรวจวางไว้เนื่องจากนำมาเพื่อทำลายต่อหน้าคณะกรรมการ และจำเลยแสดงเจตนาบริสุทธิ์ โดยลงชื่อรับของกลางจดแจ้งในหนังสือราชการให้แก่สถานีตำรวจภูธรอำเภอทับสะแก และต่อมาได้นำลงรับไว้ในสมุดรับหนังสือของฝ่ายสารบรรณกองกำกับ การที่จำเลยไม่แจ้งเรื่องกัญชาหายแต่แรก ก็เพื่อสืบเสาะหาตัวการเพื่อต้องการเอากัญชาคืนให้ได้ก่อนคนร้ายรู้ตัว พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจรับฟังมาลงโทษจำเลยและโจทก์ตีราคากัญชาสูงเกินไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีพันตำรวจเอกณรงค์ เรืองเดช ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพยานเบิกความว่า ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาของกลางนั้น เมื่อตรวจสอบของกลางว่าตรงกันกับที่ระบุไว้ในหนังสือนำส่งแล้ว ต้องนำลงบัญชีของกลางของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอีกด้วย แล้วจึงนำของกลางไปเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บรักษาของกลางซึ่งจำเลยเป็นผู้เก็บรักษากุญแจไม่ปรากฏว่ามีข้อยกเว้น ทั้งจำเลยก็มิได้ถามค้านพยานปากนี้เกี่ยวกับของกลางที่ส่งมาเก็บเพื่อทำลายว่าไม่ต้องนำลงบัญชีของกลาง และยังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.26 ว่า เมื่อจำเลยตรวจรับกัญชาของกลางในคดีซึ่งถึงที่สุดแล้ว จำเลยก็นำลงบัญชีของกลางไว้เป็นหลักฐาน เช่นกรณีรับกัญชาของกลางจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ตามเอกสารหมาย จ.26/10 และกรณีรับกัญชาของกลางจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอหัวหินตามเอกสารหมาย จ.26/18 เมื่อจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานก็เบิกความรับว่า ไม่มีระเบียบวางไว้เป็นข้อยกเว้นว่าไม่ต้องลงบัญชีในกรณีรับของกลางไว้เพื่อทำลาย จึงฟังได้ว่า จำเลยมีหน้าที่จะต้องนำลงบัญชีของกลางดังกล่าวข้างต้น กัญชาของกลางทั้ง 2รายตามเอกสารหมาย จ.26 ดังกล่าวนี้ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนเพียงเล็กน้อยจำเลยยังนำลงบัญชี แต่คดีนี้ของกลางมีจำนวนมาก มีราคาถึงสองล้านบาทแต่จำเลยกลับไม่นำลงบัญชีไว้เป็นหลักฐาน จึงชี้ให้เห็นพฤติการณ์อันเป็นพิรุธของจำเลยประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งปรากฏตามสมุดรับหนังสือราชการของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เล่มที่ 6ประจำปี พ.ศ. 2528 ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2528 ถึงวันที่26 พฤศจิกายน 2528 เอกสารหมาย จ.27 ว่า ในหน้าแรกตั้งแต่เลขทะเบียนรับที่ 19452 ถึง 20189 และ 21307 ถึง 21324 คือทะเบียนหนังสือรับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2528 ทั้งสองหน้า มีข้อความพิมพ์ไว้ที่มุมล่างด้านขวาว่า “(500,000 ผ. โรงพิมพ์ตำรวจ เม.ย.2527)”แตกต่างจากหน้าอื่น ๆ ในสมุดเล่มนี้ที่พิมพ์ไว้ว่า “(500,000 ผ.โรงพิมพ์ตำรวจ ก.พ. 2526)” แสดงว่ามีการนำเอาแบบพิมพ์ของปีพ.ศ. 2527 มาแทรกไว้เพื่อปกปิดการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการรับหนังสือราชการที่จำเลยอ้างว่า ลงรับวันที่ 18 ตุลาคม 2528ซึ่งได้แก่การรับหนังสือนำส่งกัญชาของกลางจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอทับสะแกตามฟ้องทั้งยังปรากฏว่าหนังสือนำส่งของกลางเอกสารหมายจ.2 ลงเลขรับที่ 2132 แตกต่างจากสมุดรับหนังสือราชการเอกสารหมายจ.27 ซึ่งลงเลขรับที่ 21322 ในการรับของกลางรายเดียวกันอีกด้วยเมื่อรับฟังประกอบเหตุที่มีการนำเอาแบบพิมพ์มาแทรกไว้ในภายหลังเช่นนี้ จึงเชื่อว่าไม่มีการลงรับหนังสือนำส่งกัญชาของกลางตั้งแต่แรกเพื่อมิให้ปรากฏหลักฐานในเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ความว่าขณะกัญชาหายไปจากห้องเก็บกัญชาซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยจำเลยก็มิได้รีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาของตนทราบ ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า จำเลยปกปิดเรื่องไว้เพราะต้องการสืบหาตัวการเพื่อเอากัญชาคืนนั้น ขัดต่อเหตุผลเพราะการรายงานผู้บังคับบัญชาหาเป็นเหตุให้เสียรูปคดีไม่ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์คงมีว่า การกระทำของจำเลยดังที่ศาลล่างทั้งสองฟังมา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่นั้น เห็นว่าการที่จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางไว้แล้วไม่นำลงบัญชีของกลางในคดีอาญา ก็โดยเจตนาที่จะเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157อีก ถึงแม้การกระทำนั้นจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วย การกระทำความผิดของจำเลยก็มิใช่การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน