แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่2เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์มอบให้จำเลยที่1ซึ่งเป็นลูกจ้างเป็นผู้ใช้สอยรถยนต์คันดังกล่าวก็เพื่อให้จำเลยที่1ติดต่อการงานให้แก่จำเลยที่2จึงต้องถือว่าจำเลยที่2เป็นผู้ครอบครองใช้และได้รับประโยชน์ในรถยนต์ค้นดังกล่าวอยู่ในขณะเกิดเหตุดังนั้นจำเลยที่2จะอ้างว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยที่2เช่าซื้อมาให้จำเลยที่1ใช้จำเลยที่2จึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่ พนักงานขายของจำเลยที่2สามารถใช้รถของจำเลยที่2จนกว่าจะปฏิบัติงานเสร็จสิ้นแล้วจึงจะนำมาคืนโดยอาจจะปฏิบัติงานในในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ได้เมื่อปรากฎว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่1ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่2จึงถือได้ว่าจำเลยที่1ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่2จำเลยที่2จะอ้างว่าเกิดเหตุนอกเวลาทำการงานและจำเลยที่1มิได้หมายเหตุไว้ในบัตรตอกเวลาทำงานว่าจำเลยที่1ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาเพื่อให้จำเลยที่2ทราบจำเลยที่2จึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่เพราะเป็นเรื่องภายในระหว่างพนักงานของจำเลยที่2กับจำเลยที่2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน9ฉ-5726 กรุงเทพมหานคร ไว้มีกำหนด 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 6กันยายน 2531 สิ้นสุดวันที่ 6 กันยายน 2532 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ก -2224 กรุงเทพมหานคร และเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขายในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ก – 2224 กรุงเทพมหานครและเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์จากการที่ว่าจ้างหรือที่ได้ใช้สอยให้จำเลยที่ 1 กระทำการในขณะเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2532 เวลาประมาณ 20 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ก – 2224 กรุงเทพมหานครตามหลังมาด้วยความประมาทเลินเล่อใช้ความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน9 ฉ – 5726 กรุงเทพมหานคร อย่างแรงทำให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน9 ฉ – 5726 กรุงเทพมหานคร พุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ ที่จอดอยู่ข้างหน้าอีกคันหนึ่ง ทำให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ฉ – 5726กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันไว้เสียหายทั้งด้านหน้าและด้านหลังต่อมาผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ฉ – 5726กรุงเทพมหานคร ได้เรียกร้องให้โจทก์ชำระค่าเสียหายตามเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวน 85,734 บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิเข้าเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายเงินไปจากจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน91,092 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงิน 85,734 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติ
หน้าที่ในทางการที่จ้างหรือที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการที่ว่าจ้างหรือที่ได้ใช้สอยให้จำเลยที่ 1 กระทำการในขณะเกิดเหตุ เพราะขณะเกิดเหตุอยู่นอกเวลาการทำงานและจำเลยที่ 1ได้เลิกงานแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ก – 2224 กรุงเทพมหานคร รถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อินเตอร์เครดิตแอนด์ทรัสด์ จำกัด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 91,092 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน85,734 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตาม8eพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2รับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน2 ก – 2224 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังชนท้ายรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน 9 ฉ – 5726 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ค้นหมายเลขทะเบียน 2 ก – 2224 กรุงเทพมหานครจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อินเตอร์เครดิตแอนด์ทรัสต์ จำกัดผู้ให้เช่าซื้อ คดีมีประเด็นในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าชื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ก – 2224 กรุงเทพมหานคร มอบให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างเป็นผู้ใช้สอยรถยนต์คันดังกล่าวก็เพื่อให้จำเลยที่ 1 ติดต่อการงานให้แก่จำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองใช้และได้รับประโยชน์ในรถยนต์คันดังกล่าวอยู่ในขณะเกิดเหตุ ดังนั้นจำเลยที่ 2 จะอ้างว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 เช่าซื้อมาให้จำเลยที่ 1 ใช้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่ ปัญหาต่อไปมีว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ นายอดุลย์เวสยาภรณ์ พยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานขายของจำเลยที่ 2 พนักงานสามารถใช้รถของจำเลยที่ 2 จนกว่าจะปฏิบัติงานเสร็จสิ้นแล้วจึงจะนำมาคืนซึ่งการปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ 2นั้นอาจจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ได้พยานทราบว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ก – 2224 กรุงเทพมหานครไปปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ 2 จากคำเบิกความดังกล่าวเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่าวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเกิดเหตุนอกเวลาทำการงาน และจำเลยที่ 1 มิได้หมายเหตุไว้ในบัตรตอกเวลาทำงานว่าจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาเพื่อให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายอดุลย์ดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานขายย่อมมีสิทธิปฏิบัติงานนอกเวลาในเวลากลางคืนได้ การที่จะมีหมายเหตุเรื่องทำงานนอกเวลาไว้ในบัตรตอกเวลาทำงานหรือไม่หาใช่เหตุจะอ้างเอาเป็นข้อปัดความรับผิดได้ไม่ เพราะเป็นเรื่องภายในระหว่างพนักงานของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ก – 2224กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 มิใช่คู่ความในชั้นอุทธรณ์ จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้จำนวน 1,500 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์