คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2726/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยเป็นเพียงเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย มิใช่พนักงานสอบสวน จึงไม่มีหน้าที่หรือสิทธิใดๆ ที่จะไล่โจทก์ออกจากห้องพนักงานสอบสวนได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อข้อหาตามมาตรา 157 ไม่มีมูลความผิดดังกล่าวแล้ว ข้อหาฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จึงมิใช่ความผิดอันเกี่ยวพันกับข้อหาตามมาตรา 157 ซึ่งโจทก์จะมีสิทธิฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายจำเลยได้จับกุมนายม้วนกับพวกส่งพนักงานสอบสวน ขณะที่โจทก์อยู่ในห้องพนักงานสอบสวนด้วย จำเลยได้ถามนายม้วนผู้ต้องหาว่า คุณเอาคนนี้เป็นทนายหรือเปล่า นายม้วนตอบว่าเป็นทั้งทนายและที่ปรึกษา จำเลยได้พูดต่อหน้าผู้อื่นว่า “ถ้าไม่เอาเป็นทนายก็จะไล่ออกจากห้องไปเลย” หมายความว่าจะไล่โจทก์ออกไปจากห้องพนักงานสอบสวน และพูดอีกว่า “เสือกเข้ามาในห้องนี้ทำไม” อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙,๑๕๗,๓๒๖
ศาลชั้นต้นสั่งฟ้องโจทก์ว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ไม่รับไว้พิจารณา ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย ไม่เป็นความผิด ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อหาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา ๑๕๗ ได้ความตามบรรยายฟ้องของโจทก์เองว่า จำเลยเป็นเพียงเจ้าพนักงานตำรวผู้มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย จำเลยมิใช่พนักงานสอบสวน ไม่มีหน้าที่หรือสิทธิใดๆที่จะไล่โจทก์ออกจากห้องพนักงานสอบสวนได้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ เทียบได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๗/๒๕๑๖ ระหว่างนายอิศรา เมษปะบุตร โจทก์ร้อยตำรวจเอกประณต เขียวสนั่น กับพวก จำเลย และตามสำนวนปรากฏว่า ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาสองนายเป็นองค์คณะสั่งยกฟ้อง หาใช่ผู้พิพากษานายเดียวมีคำสั่งดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้องโจทก์ในข้อหามาตรา ๑๕๗ จึงชอบแล้วส่วนข้อหาฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ นั้น เมื่อข้อหาตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งคำบรรยายฟ้องไม่มีมูลความผิดดังกล่าวแล้ว ข้อหาตามมาตรา ๓๒๖ จึงมิใช่ความผิดอันเกี่ยวกันกับข้อหามาตรา ๑๕๗ ซึ่งโจทก์จะมีสิทธิฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔ และความผิดในข้อหานี้เป็นคดีอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๔(๒) บัญญัติให้อยู่ในดุลพินิจของศาลจังหวัดที่จะไม่รับฟังในข้อหาดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษาได้
พิพากษายืน.

Share