แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยชิงทรัพย์ผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้าย แพทย์ตรวจบาดแผลในชั้นแรกระบุว่ามีบาดแผลที่หางคิ้ว ศีรษะด้านหน้า โคนลิ้นด้านล่างแขนซ้ายบวมช้ำแดง สมองได้รับการกระทบกระเทือนเล็กน้อย รักษาตัวในโรงพยาบาล 37 วัน แล้วถึงแก่ความตาย ระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้รับอุบัติเหตุเพิ่มเติม แพทย์ตรวจชันสูตรพลิกศพพบว่าซี่โครงหัก 6 ซี่ มีน้ำในช่องปอดระบุว่าผู้ตายถูกทำร้ายได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง และลำตัวบอบช้ำมากเชื่อได้ว่าเกิดจากการทำร้ายของจำเลย ประกอบกับชราภาพอาการบาดเจ็บทรุดหนักทำการรักษาลำบาก หากชราภาพและไม่ได้รับการกระทบกระเทือนก็จะไม่ตาย ดังนี้เห็นได้ว่าการตายเป็นผลจากการประทุษร้ายของจำเลยซึ่งเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63 จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายจับผู้ตายกดลงพื้นใช้เข่ากดหลัง และจับศีรษะกระแทกพื้นจนได้รับอันตรายสาหัส และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสี่ ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด15 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก7 ปี 6 เดือน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ตายถูกจำเลยทำร้าย มีผู้นำตัวผู้ตายไปรักษาที่โรงพยาบาลกลางแพทย์ตรวจในชั้นแรกมีบาดแผลที่หางคิ้วซ้ายศีรษะด้านหน้า แขนซ้ายบวมช้ำแดง มีบาดแผลที่โคนลิ้นด้านล่างและสมองได้รับการกระทบกระเทือนเล็กน้อย ปรากฏตามใบชันสูตรบาดแผลชั่วคราว ผู้ตายรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 37 วัน จึงถึงแก่ความตายแพทย์ตรวจชันสูตรพลิกศพปรากฏบาดแผลซี่โครงหัก 6 ซี่ และมีน้ำในช่องปอดเพิ่มจากใบชันสูตรบาดแผลชั่วคราว ไม่ปรากฏว่าในระหว่างที่ผู้ตายรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาถึง 37 วันแล้วถึงแก่ความตายนั้น ผู้ตายได้รับอุบัติเหตุอะไรเพิ่มจากการที่ผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายในวันเกิดเหตุแต่ประการใด เชื่อได้ว่าการที่แพทย์ตรวจพบว่าผู้ตายมีบาดแผลซี่โครงหักในวันทำการชันสูตรพลิกศพด้วยนั้น ย่อมเกิดจากการทำร้ายของจำเลยต่อผู้ตายในวันเกิดเหตุโดยปราศจากข้อสงสัย แพทย์ระบุว่าผู้ตายถูกทำร้ายได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองและตามลำตัวบอบช้ำมากประกอบกับชราภาพอาการบาดเจ็บทรุดหนักทำการรักษาลำบาก หากชราภาพและไม่ได้รับการกระทบกระเทือนก็จะไม่ตาย ดังนี้ เห็นได้ว่าเป็นผลจากการประทุษร้ายของจำเลยซึ่งเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 63 การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้ายตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น