คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเงินและจำเลยที่ 3 เป็นเสมียนของธนาคารโจทก์สาขาท่ามะกาจำเลยทั้งสามได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจนับและรักษาเงินสดประจำวันร่วมกัน วันเกิดเหตุภายหลังจากเอาเงินสำรองจ่ายออกมาแล้ว จำเลยทั้งสามมิได้ใส่กุญแจตู้นิรภัยพร้อมกันทั้งสามดอกทั้งมิได้ปิดประตูห้องมั่นคง มิได้ใส่กุญแจห้องมั่นคง มิได้เก็บรักษาลูกกุญแจไว้กับตนเองตลอดเวลา อันเป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ซึ่งได้วางไว้ในขณะเกิดเหตุ การที่จำเลยทั้งสามฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 12 นาฬิกา ไม่มีการฝากถอนเงิน จึงเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้คนร้ายใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้จำเลยที่ 2 ใช้ลูกกุญแจตู้นิรภัยซึ่งจำเลยที่ 1 ทิ้งไว้ไขตู้นิรภัยและเอาเงินสดในตู้นิรภัยไปได้ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดดังกล่าว ตามระเบียบของโจทก์ให้พนักงานเงินยืมเงินจากผู้จัดการมาไว้สำรองจ่ายไม่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของวงเงินสดที่สำนักงานเก็บรักษาไว้ได้เป็นประจำวัน แต่ในกรณีจำเป็นผู้จัดการจะให้ยืมเกินกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ โดยบันทึกเหตุผลไว้ในสมุดยืมเงินแม้จำเลยที่ 2 เก็บเงินสำรองจ่ายไว้ในลิ้นชักโต๊ะจำนวนเกินระเบียบของโจทก์ แต่เพราะมีผู้ฝากเงินหลายรายและจำเลยที่ 1 ผู้จัดการไม่อยู่ จำเลยที่ 2 ไม่อาจนำเงินมอบผู้จัดการได้ ทั้งทางปฏิบัติเมื่อมีลูกค้ามาติดต่อฝากเงินหลายรายเพื่อความสะดวกแก่ลูกค้าจำเลยที่ 1 จึงอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เก็บเงินสำรองจ่ายไว้ในลิ้นชักโต๊ะเกินกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของเงินในตู้นิรภัยได้ ตามระเบียบของโจทก์ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการที่จะบันทึกเหตุผลไว้ในสมุดยืมเงินในกรณีที่อนุญาตให้พนักงานเงินยืมเงินสำรองจ่ายเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเงินสดในตู้นิรภัย ไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานเงิน การที่คนร้ายสามารถเอาเงินสดในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการที่คนร้ายใช้อาวุธปืนขู่บังคับจำเลยที่ 2 ให้ต้องยอมคนร้ายเอาเงินในลิ้นชักโต๊ะไปได้ จำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดระเบียบและไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เฉพาะเงินที่อยู่ในลิ้นชักโต๊ะ จึงไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวนนี้.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีรวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานโจทก์สาขาท่ามะกา ทำหน้าที่เป็นพนักงานเงิน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจนับและรักษาเงินสดประจำวัน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2519 เวลากลางวันมีคนร้าย 1 คน ชิงเอาเงินสด 195,000 บาท ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 นางสาวกิติมาและนายเสนอกับชิงเอาเงินสด 67,759.60บาท ของโจทก์ สาขาท่ามะกา ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 1ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับของโจทก์ โดยเก็บสำรองจ่ายเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่โจทก์กำหนดให้ และจำเลยที่ 1 ไม่ใช้กุญแจล็อกลิ้นชักเก็บเงินตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ เปิดโอกาสให้คนร้ายชิงเอาเงินสด 67,759.60 บาท ดังกล่าวไปโดยสะดวก ขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 67,759.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้เงิน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราและระยะเวลาเดียวกับจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การว่า ก่อนเกิดเหตุเพียงไม่กี่นาทีนายธีระเธียรพิบูลย์ ได้นำเงินมาฝากธนาคาร 40,000 บาท จำเลยที่ 2ต้องทำเรื่องส่งเงินให้ผู้จัดการก่อน แต่ผู้จัดการไม่อยู่และมิได้ตั้งผู้รักษาการจึงเก็บเงินไว้ในลิ้นชักและใส่กุญแจเรียบร้อย จำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่งและข้อบังคับของโจทก์แต่อย่างใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสุดวิสัย จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องทำนองเดียวกับสำนวนแรกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นพนักงานโจทก์ สาขาท่ามะกา โดยจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเงิน และจำเลยที่ 3 เป็นเสมียนประจำธนาคาร จำเลยทั้งสามดังกล่าวได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจนับและรักษาเงินสดประจำวันร่วมกันมีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง และขัอบังคับของโจทก์ จำเลยที่ 4เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2จำเลยที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่18 พฤศจิกายน 2519 เวลากลางวัน มีคนร้าย 1 คน ชิงเอาเงินสด195,000 บาท ซึ่งอยู่ในตู้นิรภัย และเงินสด 67,759.60 บาท ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 อันเป็นทรัพย์สินของโจทก์สาขาท่ามะกา โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามดังกล่าวได้ใช้ลูกกุญแจคนละดอกไขเปิดตู้นิรภัยนำเอาเงินสดสำรองจ่ายออกมาเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 2 แล้วจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ร่วมกันใส่กุญแจตู้นิรภัยให้ครบทั้งสามดอก คงใส่กุญแจตู้นิรภัยเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น โดยไม่เก็บลูกกุญแจไว้กับตัวหรือให้ผู้อื่นที่เหมาะสม จำเลยที่ 1 ที่ 3 ออกไปนอกสถานที่แต่เอาลูกกุญแจตู้นิรภัยใส่ไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยทั้งสองเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้เงิน 195,000 บาทให้แก่โจทก์ ส่วนเงิน 67,759.60 บาท อีกจำนวนหนึ่ง จำเลยที่ 2ต้องรับผิดชดใช้ ซึ่งโจทก์ได้แยกฟ้องเป็นสำนวนแรก ขอให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงิน 195,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ร่วมรับผิดชดใช้เงิน 3,000 บาท 20,000 บาท10,000 บาท และ 50,000 บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราและระยะเวลาเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2และที่ 3 กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่งและข้อบังคับของโจทก์ การปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ดุลพินิจให้เป็นไปตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและความไม่สะดวกแก่ผู้ฝาก การที่คนร้ายเข้าไปในธนาคารและใช้อาวุธจี้ชิงทรัพย์ไปเป็นเหตุการณ์อันไม่อาจคาดหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้เปิดและปิดกุญแจตู้นิรภัยตามหน้าที่และความรับผิดแล้ว กับได้เก็บรักษาลูกกุญแจไว้อย่างดี การที่จำเลยที่ 3 ไม่ใส่กุญแจตู้นิรภัย จำเลยที่ 2ไม่จำต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ให้การว่า การที่คนร้ายเอาทรัพย์สินในตู้นิรภัยของโจทก์ไป เป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดทั้งลูกกรงห้องที่เก็บตู้นิรภัยก็ใส่กุญแจไว้เรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 6 และที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 195,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงิน 3,000 บาท ให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำนวนเงิน 20,000 บาท ให้จำเลยที่ 6และที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 จำนวนเงิน 50,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดในจำนวนเงิน 10,000 บาท ให้ยกฟ้องคดีในสำนวนแรก
โจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังต่างฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับเงินจำนวน 195,000 บาท ในตู้นิรภัยนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 18 พฤศจิกายน 2519 เวลาประมาณ12 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังกับนายวิเชียรเสมียนธนาคารอยู่เฝ้าธนาคาร โดยจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังออกไปรับฝากเงินนอกสำนักงาน และจำเลยที่ 3 ในสำนวนหลังออกไปรับประทานอาหารกลางวันมีคนร้าย 1 คน เข้ามาในสำนักงานใช้อาวุธปืนขู่บังคับจำเลยที่ 2ในสำนวนหลังให้ใช้ลูกกุญแจไขตู้นิรภัย แล้วเอาเงินในตู้นิรภัยจำนวน195,000 บาท กับในลิ้นชักโต๊ะทำงานจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจไว้อีกจำนวน 67,759.60 บาทไป คดีมีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองในสำนวนแรก และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องในยอดจำนวนเงินตามฟ้องทั้งสองสำนวนหรือไม่ สำหรับเงินจำนวน 195,000 บาท ในตู้นิรภัยนั้นได้ความจากนายฉัตรชัย วงศ์ภักดี พนักงานธนาคารโจทก์สาขาท่ามะกา นายลาดพิชิตชโลธร หัวหน้ากองนิติการโจทก์ ประกอบบันทึกคำให้การจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 เอกสารหมาย ป.จ.2 ป.จ.1 และ ป.จ.3 ตามลำดับและคำสั่งเรื่องการเก็บ การรับ การจ่ายเงินของผู้จัดการ การยืมการส่ง การเก็บเงินของพนักงานการเงิน เอกสารหมาย ป.จ.6 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังมิได้ใส่กุญแจตู้นิรภัยพร้อมกันทั้งสามดอก ภายหลังจากเอาเงินสำรองจ่ายออกมาแล้ว ทั้งมิได้ปิดประตูห้องมั่นคง มิได้ใส่กุญแจห้องมั่นคง มิได้เก็บรักษาลูกกุญแจตู้นิรภัยกับลูกกุญแจห้องมั่นคงไว้กับตนเองตลอดเวลา จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังจงใจฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ซึ่งได้วางไว้ขณะเกิดเหตุ ข้อที่จำเลยอ้างเหตุแก้ตัวว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังออกไปรับฝากเงินนอกธนาคารซึ่งอยู่ไม่ไกลเพื่อความสะดวกในการรับฝาก รับถอนเงินแก่ลูกค้าซึ่งมีมากในวันเกิดเหตุหรือเคยกระทำเช่นนั้นมาเป็นประจำเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ 26/2513 ข้อ 5 เอกสารหมาย ป.จ.6 นั้น เห็นว่า ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า ปกติธนาคารโจทก์สาขาท่ามะกาไม่มีตำรวจคอยดูแลความปลอดภัยและขณะเกิดเหตุพนักงานโจทก์ที่อยู่ในสำนักงานมีเพียงจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังกับนายวิเชียร จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ต่างเป็นกรรมการรักษาเงินจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องการป้องกันทรัพย์สินของธนาคารตามเอกสารหมาย ป.จ.7 ข้อ 5 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2519 ภายหลังคำสั่งที่ 26/2513 เอกสารหมายป.จ.6 ที่สั่งให้กรรมการรักษาเงินทุกคนใส่กุญแจตู้นิรภัย ปิดประตูลูกกรงของห้องมั่นคงและใส่กุญแจ แล้วเก็บรักษาลูกกุญแจดังกล่าวไว้กับตนเองตลอดเวลา การที่จำเลยทั้งสามฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งดังกล่าวทั้ง ๆ ที่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 12 นาฬิกาไม่มีการฝากถอนเงิน จึงเป็นการประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้คนร้ายใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้จำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังใช้ลูกกุญแจตู้นิรภัยซึ่งจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังทิ้งไว้ไขตู้นิรภัยและคนร้ายเอาเงินสดในตู้นิรภัยจำนวน 195,000 บาท ไปได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังจึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดดังกล่าว
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์สำนวนแรกสำหรับยอดเงินจำนวน67,759.60 บาท ในลิ้นชักโต๊ะจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยทั้งสองในสำนวนดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดหรือไม่ ปรากฏจากเอกสารหมาย ป.จ.6 ข้อ 3 มีข้อความว่า”เมื่อเปิดสำนักงานแล้วให้พนักงานเงินยืมเงินจากผู้จัดการมาไว้สำรองจ่ายไม่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของวงเงินสดที่สำนักงานนั้น ๆเก็บรักษาไว้ได้เป็นประจำวัน แต่ในกรณีจำเป็นผู้จัดการจะให้ยืมเกินกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ โดยบันทึกเหตุผลไว้ในสมุดยืมเงิน ในวันหนึ่งจะยืมหลายครั้งหรือไม่ยืมเลยเพราะไม่จำเป็นก็ได้ เงินที่พนักงานเงินยืมมาหรือรับไว้ให้พนักงานเงินนำเก็บรักษาไว้ในที่จัดไว้โดยเฉพาะ….” ในวันเกิดเหตุมีผู้นำเงินมาฝากธนาคารหลายรายก่อนที่จำเลยที่ 3 ในสำนวนหลังจะออกไปรับประทานอาหารกลางวันลูกค้าประจำของธนาคารได้นำเงินมาฝากประมาณ 20,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 3 สำนวนหลังออกไปรับประทานอาหารกลางวันประมาณ 10 นาทีก็ได้ข่าวว่าธนาคารถูกปล้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกยอมรับว่าเก็บเงินสำรองจ่ายไว้ในลิ้นชักจำนวนเกินระเบียบธนาคารแต่ก็น่าเชื่อว่าเพราะมีผู้ฝากเงินหลายรายเมื่อจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังซึ่งเป็นผู้จัดการไม่อยู่ จำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกก็ไม่อาจนำเงินมอบผู้จัดการได้ ทั้งได้ความจากจำเลยที่ 1 สำนวนแรกกับจำเลยที่ 1 สำนวนหลังว่า ทางปฏิบัติปรากฏว่ามีลูกค้ามาติดต่อฝากเงินหลายรายเพื่อความสะดวกแก่ลูกค้า จำเลยที่ 1 สำนวนหลังซึ่งเป็นผู้จัดการจึงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกเก็บเงินสำรองจ่ายไว้ในลิ้นชักเกินกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของเงินในตู้นิรภัยได้เห็นว่า ตามระเบียบธนาคารเอกสารหมาย ป.จ.6 ข้อ 3 ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สำนวนหลังซึ่งเป็นผู้จัดการที่จะบันทึกเหตุผลไว้ในสมุดยืมเงินในกรณีที่อนุญาตให้พนักงานเงินยืมเงินสำรองจ่ายเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเงินสดในตู้นิรภัย ไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานเงิน นอกจากนั้นโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบในการเก็บรักษาเงินสำรองจ่ายอย่างใดข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกรักษาเงินจำนวน67,759.60 บาท โดยผิดระเบียบดังข้ออ้างของโจทก์ในคำฟ้อง เห็นว่าการที่คนร้ายสามารถเอาเงินสดจำนวนดังกล่าวในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรก เป็นผลโดยตรงจากการที่คนร้ายใช้อาวุธปืนขู่บังคับจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกกับนายวิเชียรให้จำต้องยอมให้คนร้ายบังคับเอาเงินในลิ้นชักไปได้ จำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกมิได้กระทำผิดระเบียบและไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เฉพาะในเงินจำนวน 67,759.60บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนแรกไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share