คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2713/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ในขณะกระทำความผิดจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารแต่เมื่ออัยการทหารเห็นว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารและส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินคดี ความเห็นของอัยการทหารที่วินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นที่สุด แม้พนักงานอัยการจะมีความเห็นที่แตกต่างก็ไม่อาจส่งสำนวนการสอบสวนกลับคืนไปยังอัยการทหารอีกได้ และในกรณีเช่นนี้ศาลพลเรือนจะปฏิเสธไม่ประทับฟ้องคดีดังกล่าวโดยเหตุว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารอีกมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทไปตามถนนสายหนองสำราญ-นาเรือง มุ่งหน้าไปทางตำบลนาเรืองด้วยความเร็วสูงมีนางสาวนารี บุตตะพิมพ์นั่งซ้อนท้าย เมื่อรถแล่นไปถึงบริเวณทางแยกจำเลยได้ขับรถแซงรถของผู้อื่น เป็นเหตุให้รถของจำเลยเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ซึ่งนายเซียง พามาดี ขับอยู่ข้างหน้าและเลี้ยวขวาเพื่อเข้าทางแยก ทำให้นายเซียงถึงแก่ความตาย นางสาวนารีได้รับอันตรายสาหัส และทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 92, 93, 143, 151, 157 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535มาตรา 11, 39 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64

จำเลยให้การปฏิเสธ

ก่อนเริ่มสืบพยานศาลชั้นต้นสอบโจทก์และจำเลย ได้ความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยยังรับราชการทหารประจำการเป็นทหารเกณฑ์กรมทหารราบที่ 21 กองทหารรักษาพระองค์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานครโดยเข้ารายงานตัวรับราชการตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 และคดีนี้อัยการทหารได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำโดยประมาทโดยมีพลเรือนคือ นายเซียง พามาดี ผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทด้วย จึงส่งสำนวนให้โจทก์ดำเนินคดีนี้

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่ตัวการร่วมกับพลเรือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษา จึงให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องแล้วสั่งใหม่ว่าไม่รับฟ้อง ให้คืนตัวจำเลยแก่โจทก์เพื่อดำเนินการฟ้องจำเลยต่อศาลที่มีอำนาจ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ในขณะกระทำผิดจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตาม แต่เมื่ออัยการทหารเห็นว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารและส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจะส่งสำนวนกลับคืนไปยังอัยการทหารเพื่อให้ดำเนินคดีนั้นมิได้” แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาความเห็นของอัยการทหารที่วินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นที่สุดแม้พนักงานอัยการจะมีความเห็นที่แตกต่าง ก็ไม่อาจส่งสำนวนการสอบสวนกลับคืนไปยังอัยการทหารอีก ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลในการดำเนินคดีที่มีปัญหาคาบเกี่ยวว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดระหว่างศาลทหารกับศาลพลเรือน และเมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนที่ส่งมาตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ต้องพิจารณาฟ้องร้องคดีนั้นต่อศาลพลเรือนโดยถือว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน และในกรณีเช่นนี้ศาลพลเรือนจะปฏิเสธไม่ประทับฟ้องคดีดังกล่าวโดยเหตุว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารอีกมิได้ ดังนั้น เมื่ออัยการทหารมีความเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารแล้ว กรณีจึงอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องแล้วสั่งใหม่ว่าไม่รับฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องและไม่รับฟ้องโจทก์ และให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share