คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2713/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย 3 กระทง ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6เดือนปรับ 1,500 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืน ปรับ 2,500 บาท ฐานมีวัตถุระเบิดจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปีกรณียังถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงเกินหนึ่งปีแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้โทษทั้ง 3 กระทง โดยบางกระทงแก้จากโทษปรับเป็นให้จำคุกสถานเดียวและไม่รอการลงโทษอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่โทษแต่ละกระทงศาลอุทธรณ์ยังคงให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 219.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 38, 55, 72, 74 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 6, 9 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่7) พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 7ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 72 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 กฎกระทรวง ฉบับที่ 11พ.ศ. 2522 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 4ริบกระสุนปืน ขนาด 11 มม. จำนวน 101 นัด แก๊ป 2 ดอก และวัตถุระเบิด6 แท่ง ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 38, 55, 72, 74 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 6, 9 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่7) พ.ศ. 2522 มาตรา6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 32 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 กฎกระทรวง ฉบับที่11 พ.ศ. 2522 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 4ลงโทษฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ปรับ 3,000 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืน ปรับ 5,000 บาท ฐานมีวัตถุระเบิด จำคุก 3 ปีปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับ 14,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบกระสุนปืน ขนาด 11 มม. จำนวน 101นัด แก๊ป 2 ดอก และวัตถุระเบิด จำนวน 6 แท่ง ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสูงขึ้น และขอไม่ให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกฐานมีอาวุธปืน9 เดือน ฐานมีเครื่องกระสุนปืน 3 เดือน ฐานมีวัตถุระเบิด 2 ปีรวม 3 ปี สถานเดียว ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘การที่จะวินิจฉัยว่า คดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากกระทงความผิดเป็นกระทง ๆ ไป คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดรวม 3 กระทง เมื่อลดโทษให้ทุกกระทงกึ่งหนึ่งแล้วฐานมีอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,500 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืนปรับ 2,500 บาท ฐานมีวัตถุระเบิด จำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 1,000บาท แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี กรณียังถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงเกินหนึ่งปีดังนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้โทษทั้ง 3 กระทงโดยบางกระทงแก้จากโทษปรับเป็นให้จำคุกสถานเดียวและไม่รอการลงโทษให้อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่โทษแต่ละกระทงดังกล่าวศาลอุทธรณ์ก็ยังคงให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้’
พิพากษายกฎีกาของจำเลย.

Share