คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2709/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในกรณีเจ้าหนี้มีลูกหนี้หลายคน เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้คนใดและจะฟ้องอย่างไร ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเลือกกระทำได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องลูกหนี้คนอื่น ๆ เป็นคดีล้มละลายโดยไม่จำต้องฟ้องจำเลยด้วย ทั้งการที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีล้มละลายดังกล่าว ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยในอันที่จะไม่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย และแม้ต่อมาลูกหนี้คนอื่น ๆ จะตกเป็นบุคคลล้มละลายก็ตาม จำเลยก็หาได้หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ และจะเสียสิทธิในการไล่เบี้ยหรือไม่ เพราะการไล่เบี้ยเป็นเรื่องระหว่างลูกหนี้ด้วยกันเอง กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต
โจทก์นำสำเนาภาพถ่ายของต้นฉบับเอกสารที่สูญหายไปมาสืบว่าถูกต้องกับต้นฉบับ แม้จะไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์นำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์นำสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารและพยานบุคคลมาสืบ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์นำสำเนาเอกสารและพยานบุคคลมาสืบแล้ว สำเนาหนังสือสัญญาดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93(2)
ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นควรให้จำเลยใช้แทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี แทนที่จะให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องคดีนั้นเป็นดุลพินิจของศาล เมื่อไม่นอกเหนือไปจากบทบัญญัติกฎหมายก็ไม่มีเหตุที่จะต้องแก้ไข

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2527 ห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผล ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเพื่อค้ำประกันสัญญาซื้อขายหัวกระเทียมแห้งตามสัญญาที่ 6/2528 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2527 ในวงเงินฉบับละ 1,000,000 บาทรวม 3 ฉบับ เป็นเงิน 3,000,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ตามหนังสือค้ำประกันเลขที่ 7600/2527, 7601/2527 และ 7602/2527และจำเลยได้ทำหนังสือค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลให้แก่โจทก์เป็นเงินรวม 2,000,000 บาท โดยยอมชำระดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แก่โจทก์ ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลผิดสัญญาต่อองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระหนี้แทนในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นเงิน 2,379,452.35 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2528 เป็นต้นไปโจทก์ชำระหนี้แทนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 จึงเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผล และจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันใช้เงินที่โจทก์ชำระแทนไปเป็นเงิน 2,379,452.35 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 178,861.95 บาท รวม2,558,314.30 บาท แต่ไม่ชำระต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย ขอให้จำเลยชำระเงินต้นจำนวน 2,558,314.30บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือมอบอำนาจโจทก์เป็นเอกสารปลอม โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต โดยการใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายของห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลก่อนจะมาเรียกร้องจากจำเลยและการที่โจทก์ฟ้องคดีจำเลยล่าช้าทำให้จำเลยไม่สามารถขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพราะล่วงเลยเวลาขอรับชำระหนี้ จำเลยทำสัญญาค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 1,000,000 บาท ไม่ใช่วงเงิน3,000,000 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง (ที่ถูกวงเงิน 2,000,000 บาท) หากจำเลยต้องรับผิดจำเลยก็รับผิดไม่เกิน 1,000,000 บาท และคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำหนังสือค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลให้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเพื่อเป็นการค้ำประกันสัญญาซื้อขายหัวกระเทียมแห้งระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หากห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์ยินยอมใช้เงินให้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรในวงเงินฉบับละ 1,000,000 บาท รวม 3 ฉบับ เป็นเงิน3,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6, จ.8 และ จ.10 การที่โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีนางนวลอนงค์ รักพาณิชย์ และนายวิเชียร รักพาณิชย์ กับจำเลยต่างทำสัญญายอมรับผิดชอบชำระเงินรวมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในกรณีที่โจทก์ต้องจ่ายเงินแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลไปตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าว ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลผิดสัญญาต่อองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรแล้วฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผล นางนวลอนงค์และนายวิเชียรเป็นคดีล้มละลาย และศาลได้พิพากษาให้บุคคลทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว โดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยสุจริตหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผล นางนวลอนงค์และนายวิเชียรเป็นคดีล้มละลายโดยไม่ได้ฟ้องจำเลยด้วย จนบุคคลทั้งสามตกเป็นบุคคลล้มละลายจึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ทำให้จำเลยไม่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายและเสียสิทธิในการไล่เบี้ยเอาจากบุคคลทั้งสามดังกล่าวได้ เห็นว่า ในกรณีเจ้าหนี้มีลูกหนี้หลายคนนั้นเจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้คนใด และหากฟ้อง จะฟ้องอย่างไรย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเลือกกระทำได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องลูกหนี้คนอื่น ๆ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผล นางนวลอนงค์และนายวิเชียรเป็นคดีล้มละลายโดยไม่จำต้องฟ้องจำเลยด้วยทั้งการที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีล้มละลายดังกล่าว ย่อมเป็นคุณแก่จำเลยในอันที่จะไม่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย และแม้ต่อมาลูกหนี้คนอื่น ๆจะตกเป็นบุคคลล้มละลายก็ตาม จำเลยก็หาได้หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ และจะเสียสิทธิในการไล่เบี้ยเอาจากบุคคลทั้งสามดังกล่าวหรือไม่เพราะการไล่เบี้ยเป็นเรื่องระหว่างลูกหนี้ด้วยกันเอง กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่า จำเลยทำสัญญายินยอมรับผิดชำระเงินที่โจทก์จ่ายแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนพิพัฒน์พืชผลไปตามหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์จำนวนเพียงใด ข้อนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์ 2 ฉบับ ลงวันที่วันเดียวกัน คือวันที่ 29 ตุลาคม 2527 โดยจำเลยยินยอมรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ฉบับละ1,000,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12ส่วนจำเลยนำสืบว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวไว้แก่โจทก์เพียงฉบับเดียวจำนวนเงิน 1,000,000 บาท สำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 และจ.12 เป็นสัญญาฉบับเดียวกันโดยเป็นคู่ฉบับกัน เห็นว่า หากสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับและสำเนาคู่ฉบับของสัญญาฉบับเดียวกันดังที่จำเลยอ้าง ข้อความที่พิมพ์เพิ่มเติมลงในแบบฟอร์มหนังสือสัญญารวมทั้งลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้ค้ำประกันของสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 จะต้องมีตำแหน่งตรงกันโดยตลอด แต่ศาลฎีกาได้ตรวจสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11และ จ.12 โดยวิธีนำมาวางซ้อนทับกัน ปรากฏว่าข้อความที่พิมพ์เพิ่มเติมลงในแบบฟอร์มหนังสือสัญญารวมทั้งลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้ค้ำประกันของสำเนาเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวมีตำแหน่งไม่ตรงกันโดยตลอด แสดงว่าไม่ใช่คู่ฉบับกัน จึงไม่ใช่สัญญาฉบับเดียวกันดังที่จำเลยอ้างแต่เป็นสัญญาคนละฉบับกันข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์ 2 ฉบับ โดยยินยอมรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ฉบับละ 1,000,000 บาทตามสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ที่จำเลยอ้างว่าสำเนาเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวรับฟังไม่ได้ตามกฎหมายนั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้นำสำเนาเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวมาสืบโดยมีนายต่อศักดิ์สุทธิชาติ และนายนาคิน ชูสิทธิ์ พนักงานของโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ต้นฉบับเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวสูญหายซึ่งโจทก์ได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานตามสำเนารายงานประจำวันธุรการเอกสารหมาย จ.13 และรับรองว่าสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 กับ จ.12 เป็นสำเนาภาพถ่ายของต้นฉบับเอกสารที่สูญหายไป ส่วนจำเลยคงมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความเพียงว่า จำเลยไม่รับรองความถูกต้องตามเอกสารหมายจ.11 และ จ.12 แต่ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่าตามเอกสารหมายจ.11 และ จ.12 ลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันเป็นลายมือชื่อของจำเลยจริงเจือสมกับพยานโจทก์ จึงน่าเชื่อว่าต้นฉบับเอกสารดังกล่าวหาไม่ได้เพราะสูญหายไป และสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ถูกต้องกับต้นฉบับ แม้จะไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์นำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์นำสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 กับ จ.12 และพยานบุคคลมาสืบถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์นำสำเนาเอกสารและพยานบุคคลมาสืบแล้ว สำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2)

ที่จำเลยฎีกาในประการสุดท้ายว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นควรให้จำเลยใช้แทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีแทนที่จะให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อไม่นอกเหนือไปจากบทบัญญัติกฎหมายก็ไม่มีเหตุที่จะต้องแก้ไขศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share