คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2709/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ค้าในการรับทำการงาน สิทธิของโจทก์ในการเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นคือค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจากจำเลย มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 165 (7)เดิม โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ สิทธิเรียกร้องดังกล่าวของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว แต่ที่จำเลยมีถึงโจทก์ตอบที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้แก่โจทก์ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องดังกล่าวของโจทก์ได้ขาดอายุความแล้ว ปรากฏว่าแม้ข้อความในหนังสือที่จำเลยมีถึงโจทก์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่จำเลยต่อว่าโจทก์ถึงข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานของพนักงานของโจทก์และแจ้งให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงการทำงานของพนักงานของโจทก์ แต่ตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวก็มีข้อความในทำนองว่าจำเลยยอมรับผิดชอบชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่โจทก์ทวงถามและยินดีผ่อนชำระให้โจทก์เดือนละ 500 บาท จนกว่าจะหมด การที่จำเลยมีถึงโจทก์เช่นนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 192 เดิมแล้ว
การที่จำเลยละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นมิใช่เป็นการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 เดิม อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความตามมูลหนี้เดิมขึ้นใหม่ ดังนั้นแม้โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อเลยกำหนดเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แล้ว จำเลยก็หาอาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ไม่
จำเลยได้ให้การต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ ปัญหาว่าจำเลยได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความหรือไม่รวมอยู่ในประเด็นพิพาทว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ด้วย และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นพิพาทว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ โดยได้วินิจฉัยด้วยว่าการที่จำเลยมีหนังสือเอกสารหมาย จ.13 ไปถึงโจทก์ไม่เป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ ดังนั้นปัญหาว่าจำเลยได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความหรือไม่ จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าการที่จำเลยทำหนังสือถึงโจทก์นั้น เป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความหรือไม่ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

Share