คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2707/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยจ้างบริษัทจำเลยผลิตข่าว โจทก์ทำงานกับจำเลยในฐานะบรรณาธิการข่าว เรียบเรียงข่าวผู้ประกาศข่าว โจทก์มีหน้าที่ผลิตข่าวให้มีคุณภาพ ต้องมาเรียบเรียงข่าวให้ทันกับเวลาของรายการ แต่จำเลยมีอำนาจเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานได้ โจทก์ได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่ทำงาน ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใด ๆ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของโจทก์ ดังนี้ แม้โจทก์ตกลงผลิตข่าวให้แก่จำเลยโดยได้รับสินจ้างเพื่อการนั้นก็ตาม แต่โจทก์ปฏิบัติงานโดยอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันเป็นลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานประการหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นสัญญาจ้างทำของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อ่านข่าวและสื่อข่าวของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยโดยมีความสัมพันธ์กับจำเลยในฐานะผู้รับจ้างทำของได้รับค่าจ้างโดยคำนวณจากผลงาน ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์กับนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา และนายสมเกียรติ อ่อนวิมลได้ตกลงทำการผลิตรายการข่าว โดยจะมีการแบ่งผลประโยชน์ให้ ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2528 โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับบริษัทแปซิฟิคอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำเลยซึ่งมีนายปีย์และนายสมเกียรติ กับพวกรวม 7 คน เป็นกรรมการ ตามหนังสือรับรองท้ายคำให้การ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้จ้างบริษัทจำเลยผลิตข่าว โจทก์ทำงานในฐานะบรรณาธิการข่าวเรียบเรียงข่าว ผู้ประกาศข่าวในรายการข่าวทันโลก ซึ่งออกรายการตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และเป็นผู้ประกาศข่าวเฉพาะวันจันทร์ถึงวันพุธ และทำหน้าที่ประกาศข่าวภาค 20 นาฬิกาของวันเสาร์และอาทิตย์ด้วย โจทก์มีหน้าที่ผลิตข่าวให้มีคุณภาพเป็นที่นิยมของประชาชน โดยต้องมาทำการเรียบเรียงข่าวให้ทันกับเวลาของรายการแต่จำเลยมีอำนาจเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานเพื่อให้เหมาะสมกับเวลาของรายการ โจทก์ได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่ทำงาน ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใด ๆ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของโจทก์ ระหว่างโจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์ยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.อาร์.เอส. เอนเทอร์เทนเม้นท์ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.2 และห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวได้ออกใบเสร็จรับเงินเป็นค่าเขียนบทโทรทัศน์ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2528 กับเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2529 ให้จำเลย ตามเอกสารหมาย ล.1 และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าลักษณะงานของโจทก์เป็นงานที่ต้องอาศัยคุณสมบัติเฉพาะตัว จำเลยไม่มีอำนาจที่จะบังคับบัญชาการทำงานของโจทก์ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นเรื่องโจทก์รับผลิตข่าวให้แก่จำเลยและค่าจ้างจากการนั้นโจทก์เป็นผู้รับจ้างทำของมิใช่ลูกจ้างประจำนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติมาแล้ว แม้ได้ความว่า โจทก์ตกลงจะทำงานให้จำเลย โดยตกลงรับผลิตข่าวให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงจะให้สินจ้างแก่โจทก์ก็ตาม แต่โจทก์ปฏิบัติงานโดยอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันเป็นลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานประการหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583ที่บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ดี ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ ก็ดี ฯลฯท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้” เช่นนี้ สัญญาจ้างให้โจทก์ทำงานตามลักษณะงานดังกล่าว จึงมิใช่เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ 6 ว่าด้วยจ้างแรงงาน หากแต่เป็นสัญญาที่โจทก์ผู้รับจ้างตกลงจะทำการผลิตข่าวจนสำเร็จให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้างและจำเลยตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นตามมาตรา 587แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้รับจ้างทำของ มิใช่ลูกจ้างประจำของจำเลย โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงาน แล้วพิพากษายกฟ้องนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share