คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2705/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยว่าได้ร่วมกันลักลอบนำเลื่อยโซ่ยนต์ที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือจำเลยได้ร่วมกันซื้อรับจำนำ ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่ายหรือรับไว้ซึ่งเลื่อยดังกล่าว โดยรู้ว่าเป็นของที่ลักลอบหนีศุลกากร เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ หากโจทก์เห็นว่าคำให้การดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยรับสารภาพในความผิดฐานใด โจทก์ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไป เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยไม่ได้คดีไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ (หมายถึงย้อนไปจดคำให้การให้ชัดเจนใหม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6,7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับและเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ เรียงกระทงลงโทษลงโทษฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 5,600 บาท ลงโทษตามกฎหมายศุลกากรปรับสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงินคนละ 52,000 บาท รวมจำคุกคนละ6 เดือน และปรับคนละ 109,600 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยคนละ 3 เดือนและปรับคนละ 54,800 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับร้อยละ 30 จ่ายรางวัลร้อยละ 15 ของค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยทั้งสองในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรไม่ถูกต้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรตามฟ้อง แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานใดฐานหนึ่งเพียงฐานเดียว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ไม่ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองรับสารภาพว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฐานใดจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรของจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรไม่ได้และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 5,600 บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามกฎหมาย โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองให้หนักกว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสองกำหนดโทษจำคุกและปรับให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 3 เดือนและปรับคนละ 2,800 บาท ให้ยกฟ้องความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรไม่จ่ายสินบนนำจับเงินรางวัล และไม่ริบเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้อธิบายฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟัง และมิได้จดคำให้การให้ชัดเจน อันเป็นการไม่ปฎิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการพิจารณาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วกำหนดให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน และพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น เห็นว่าไม่ปรากฎว่าศาลชั้นต้นไม่ได้อธิบายฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟังตามคำให้การของจำเลยทั้งสองที่ศาลชั้นต้นจดไว้ก็มีรายละเอียดว่าจำเลยทั้งสองได้ทราบคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว ขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดและเป็นความจริงตามฟ้องโจทก์ทุกประการไม่ขอต่อสู้คดีและไม่ต้องการทนายความโดยมีจำเลยทั้งสองและโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ ในรายงานกระบวนพิจารณามีรายละเอียดว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงไม่สืบพยาน ให้รอฟังคำพิพากษาโดยมีโจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ โดยเหตุที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิจะให้การต่อสู้อย่างไรหรือไม่ยอมให้การก็ได้ การที่จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยทั้งสองได้ทราบฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว ซึ่งคำว่าทราบ หมายความว่ารู้หรือเข้าใจแสดงว่าศาลได้อธิบายฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟังเข้าใจแล้ว จำเลยทั้งสองจึงได้ให้การเท้าความว่าจำเลยทั้งสองได้ทราบคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว โจทก์ได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำให้การของจำเลยทั้งสองและรายงานกระบวนพิจารณาหากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยทั้งสองที่ศาลจดไว้ไม่ชัดแจ้งโจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไป เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองเมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ได้ความว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรในฐานใดแน่ก็ลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้ และคดีไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วนและพิพากษาใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share