คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2701/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุเกี่ยวกับความสามารถในการทำงานของโจทก์ทั้งสิ้น มิได้อ้างสิทธิตามสัญญาจ้าง เมื่อจำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวย่อมไม่อาจยกสิทธิมาต่อสู้เพื่อให้พ้นความรับผิดได้ สิทธิในการเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาจำเลยจะมีอยู่หรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดี
เมื่อปัญหาที่จะต้องพิจารณามีเพียงว่า เหตุที่จำเลยหยิบยกมาเลิกจ้างโจทก์มีหรือไม่ และเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่ เพื่อนำมาวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เท่านั้น และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏเหตุตามสัญญาที่จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ตามที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้และยกขึ้นอุทธรณ์การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาโดยโจทก์มิได้กระทำผิดและมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 35,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 70,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างและกำหนดชำระเงินค่าจ้างทุกวันที่ 20 ของเดือน ต่อมาจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานตามหน้าที่ที่มอบหมายได้ จึงบอกเลิกจ้างครั้งแรกด้วยวาจาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2540 และมีหนังสือเลิกจ้างวันที่ 15 กันยายน 2540 สัญญาจ้างย่อมนับวันที่ 20 กันยายน 2540 สิ้นสุดวันที่ 20 ตุลาคม 2540 ซึ่งจำเลยได้จ่ายเงินประจำเดือนกันยายนและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเดือนตุลาคม รวม 2 เดือนให้โจทก์แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก และตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดว่าหากจำเลยต้องการบอกเลิกจ้างต้องมีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าหนึ่งเดือน หรือระยะหนึ่งรอบการจ่ายเงินเดือนดังนั้นเมื่อจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหนึ่งเดือนตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย อีกทั้งในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยโจทก์ให้คำปรึกษาแนะนำที่ผิดพลาดแก่จำเลยในการทำสัญญากับผู้รับเหมารายย่อยทำให้จำเลยเสียหายมาก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าชดเชยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2540 อ้างเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดำรงอยู่ โจทก์ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่สามารถจะมอบหมายความไว้วางใจในการทำงานได้ และโจทก์ไม่มีความสามารถในการประสานงานระหว่างหน่วยงานของจำเลย แต่จำเลยไม่ติดใจนำสืบพยานให้เห็นว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติในเหตุที่จำเลยยกอ้างเป็นเหตุเลิกจ้าง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ขาดคุณสมบัติหรือบกพร่องหรือขาดความสามารถตามที่จำเลยกล่าวหา จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 35,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญาเอกสารท้ายคำให้การ ข้อ 11 เมื่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวไม่ได้ระบุจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ต้องสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุใด ก็ชอบด้วยสัญญาแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทเพราะวินิจฉัยแต่ข้อกล่าวหาของโจทก์ฝ่ายเดียวโดยไม่วินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุเกี่ยวกับความสามารถในการทำงานของโจทก์ทั้งสิ้น มิได้อ้างสิทธิตามสัญญาจ้างที่อ้างว่ามีอยู่มาใช้แต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวย่อมไม่อาจยกสิทธิมาต่อสู้เพื่อให้พ้นความรับผิดได้ สิทธิในการเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาจำเลยจะมีอยู่หรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ปัญหาที่จะต้องพิจารณาจึงมีเพียงเหตุที่จำเลยหยิบยกมาเลิกจ้างโจทก์มีหรือไม่ และเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่ เพื่อนำมาวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เท่านั้น โดยสรุปรูปคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าตามสัญญาจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ตามที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้และยกขึ้นอุทธรณ์แต่อย่างใด จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

พิพากษายืน

Share