แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าโจทก์ได้ด่าตนอย่างหยาบคาย โจทก์มีอาการคุ้มดีคุ้มร้ายขืนเอาไว้ในราชการจะเสียหาย ถ้าปรากฏว่าข้อความที่จำเลยกล่าวว่า โจทก์ด่าจำเลยเป็นความจริง (เพราะได้มีการพิจารณาในศาลศาลฟังว่าโจทก์ด่าจำเลยจริง)แล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมในอันที่จะให้ผู้ที่ด่าจำเลยได้รับโทษ จึงไม่มีความผิด
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกมีเจตนาร้ายต่อโจทก์บังอาจสมคบกันเขียนจดหมายลงวันที่ 20 ตุลาคม 2497 ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จังหวัดพระนคร และผู้ว่าราชการภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา ใส่ความกล่าวหาโจทก์หลายประการ คือ กล่าวหาว่าโจทก์ด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคาย ฯลฯ กับว่าโจทก์มีอาการคุ้มดีคุ้มร้ายไม่ควรให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ จะเสื่อมเสียแก่วงราชการ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้ศาลลงโทษ
ศาลได้ไต่สวนคดีของโจทก์แล้วสั่งว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาแล้วว่า เดิมโจทก์จำเลยต่างคนต่างด่าว่ากัน จำเลยจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ด่าว่าจำเลยเห็นว่าโจทก์ได้ด่าจำเลย ๆ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะร้องกล่าวโทษโจทก์เพื่อให้ผู้ด่าจำเลยรับโทษได้ เมื่อเป็นความจริงก็ถือว่าจำเลยกล่าวแสดงไปโดยสุจริต ที่จำเลยกล่าวว่าโจทก์มีอาการคุ้มดีคุ้มร้ายก็เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องเป็นข้อแสดงถึงเหตุที่โจทก์ด่าจำเลยนั้นเองการกระทำของจำเลยต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) ซึ่งผู้ทำไม่มีผิด เหตุฟ้องจึงไม่มีมูล จึงพิพากษายืน