แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้มีเงินฝากในธนาคารได้สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินในบัญชีของตนโดยออกเช็ค กรอกจำนวนเงินลงไปจำนวนหนึ่งภายหลังปรากฏว่าเช็คฉบับนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนเงินที่สั่งจ่ายให้มากขึ้นโดยผู้สั่งจ่ายไม่ทราบและธนาคารได้จ่ายเงินไปตามเช็คที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้นแล้วดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้สั่งจ่ายเช็คได้ละเลยในการระมัดระวังที่จะไม่ให้มีการปลอมแปลงเช็คนั้นอย่างไรแล้วธนาคารจะเรียกร้องให้ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่ปลอมแปลงนั้นหาได้ไม่ จะเรียกได้แต่เฉพาะจำนวนเงินเดิมแห่งเช็คนั้นเท่านั้นเพราะอาจอนุโลมถือได้ว่าสิทธิของธนาคารต่อผู้เคยค้าที่สั่งจ่ายเป็นเสมือนผู้ทรง ต่อผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมกราคม 2493 โจทก์ได้สั่งให้จำเลยจ่ายเงินในบัญชีของโจทก์ โดยออกเช็ครวม 3 ฉบับ ต่อมาปรากฏว่าเช็คทั้ง 3 ฉบับนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนเงินที่สั่งจ่ายให้มากขึ้นโดยโจทก์ไม่ทราบ และไม่ยินยอม จำเลยได้จ่ายเงินไปตามเช็คที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้น แล้วหักเงินในบัญชีของโจทก์ โจทก์ถือว่าจำเลยจะโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม ได้จ่ายเงินไปตามเช็คที่เสีย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยลงบัญชีเงินของโจทก์ 5,000 บาท เท่าจำนวนที่จำเลยได้จ่ายไป พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้ว่า เช็ค ที่กล่าวมีลายมือชื่ออันแท้จริงของโจทก์ผู้สั่งจ่ายจำเลยจ่ายเงินไปตามทางค้าปกติโดยสุจริต ปราศจากการประมาทเลินเล่อจำเลยไม่ต้องรับผิด หากจะต้องรับผิด ก็เพียง 3,152 บาท เท่าที่เกินจำนวนที่โจทก์สั่งจ่ายเท่านั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้มีความประมาทเลินเล่อ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1009พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยลงบัญชีของโจทก์เป็นจำนวน 3,152บาท เท่าที่จ่ายเกินไป ฯลฯ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1009,1007 ประกอบด้วยมาตรา 910, 989 แล้วเห็นว่าสำหรับคดีนี้เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้สั่งจ่ายเช็คได้ละเลยในการระมัดระวังที่จะไม่ให้มีการปลอมแปลงเช็คนั้นอย่างไรแล้ว ธนาคารจะเรียกร้องให้ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่ปลอมแปลงนั้น หาได้ไม่ จะเรียกได้แต่เฉพาะจำนวนเงินเดิมแห่งเช็คนั้นเท่านั้น เพราะอาจอนุโลมถือได้ว่า สิทธิเป็นเสมือนผู้ทรงต่อผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้น
จึงพิพากษายืน