แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่อาจเป็นได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายกล่าวคือ ถ้ายังโต้เถียงข้อเท็จจริงกันอยู่ไม่เป็นที่ยุติว่า จำเลยกระทำอย่างไรบ้างที่อ้างว่ากระทำเพื่อป้องกันย่อมเป็นปัญหาข้อเท็จจริง แต่ถ้าข้อเท็จจริงได้ความยุติแล้วว่าจำเลยกระทำอย่างไร และคู่ความฎีกาโต้เถียงเพียงว่า การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้น ถือได้ว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้จึงจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 35/2515)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงนายดาว เถื่อนเหลือโดยเจตนาฆ่าและนายดาวถึงแก่ความตายเพราะพิษบาดแผลที่ถูกแทงทำร้าย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘
นางฟัก เถื่อนเหลือ ภรรยาผู้ตายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การว่า ใช้มีดแทงผู้ตายจริง แต่กระทำไปเพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายเข้าถีบจำเลยก่อนจนจำเลยล้มหงาย จำเลยร้องว่าผมไม่สู้ ผู้ตายยังชักปืนหันปากกระบอกไปทางจำเลยขณะล้มหงายอยู่ที่ผู้ตายไม่ได้ยิง อาจเป็นเพราะยังไม่ได้ชักลูกเลื่อนขึ้นลำปืนไว้ในขณะนั้น จำเลยไม่อาจรู้ได้ว่าจะได้รับอันตรายสักเพียงไหน จำเลยจึงใช้มีดแทงที่กกขาทั้งสองข้างและที่ชายโครงซ้ายซึ่งเป็นส่วนล่างของร่างกาย เป็นการกระทำอันอันกระทันหันติดพันจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาข้อ ๒ ข. ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งมีใจความว่า ตามคำพยานโจทก์ควรฟังว่า ผู้ตายได้ถีบจำเลยออกไปที่ชานระเบียง ๒ ครั้ง ครั้งแรกจำเลยหวนกลับเข้าไปแย่งปืนจากผู้ตายและใช้มีดแทงผู้ตายถึง ๔ แผล ครั้งหลังจำเลยผละกระโดดหนีไป หากจำเลยไม่ประสงค์จะเข้าไปแทงแล้ว ก็มีโอกาสหนีจากผู้ตายไปได้ ผู้ตายก็มิได้ยิงเพื่อให้เกิดภยันตรายแก่จำเลย จำเลยอายุ๓๕ ปี ร่างกายแข็งแรงกว่าผู้ตายซึ่งมีอายุ ๕๕ ปี หากจำเลยประสงค์จะแย่งปืนจากผู้ตายอย่างเดียว ภยันตรายจากการที่ผู้ตายจะใช้ปืนยิงจำเลยก็เกิดขึ้นไม่ได้ จำเลยกลับฉวยโอกาสขณะเข้าแย่งปืนจากผู้ตายใช้มีดแทงผู้ตายโดยเจตนา จำเลยจะยกเอาการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายมาอ้างไม่ได้
ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่แล้วปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อาจเป็นได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย กล่าวคือถ้ายังโต้เถียงข้อเท็จจริงกันอยู่ ไม่เป็นที่ยุติว่า จำเลยกระทำอย่างไรบ้างที่อ้างว่ากระทำเพื่อป้องกันย่อมเป็นปัญหาข้อเท็จจริงแต่ถ้าข้อเท็จจริงได้ความยุติแล้วว่าจำเลยกระทำอย่างไรและคู่ความฎีกาโต้เถียงเพียงว่าการกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้น ถือได้ว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนี้ จึงจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ฎีกาข้อ ๒ ข. ของโจทก์ร่วมนี้มิได้โต้เถียงแต่เพียงว่าการกระทำของจำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมานั้นไม่เป็นป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังอ้างข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญนอกเหนือไปจากที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาด้วย คือ อ้างว่าจำเลยมีโอกาสหนีได้และจำเลยแทงผู้ตายเป็นการฉวยโอกาสขณะแย่งปืนจากผู้ตายซึ่งศาลอุทธรณ์มิได้ฟังว่า ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ฎีกาข้อ ๒ ข. ของโจทก์ร่วมจึงมุ่งหมายจะให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงดังที่โจทก์ร่วมกล่าวอ้างขึ้นเพื่อให้นำไปวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจึงต้องถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้ไม่ได้
จึงพิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์ร่วมเสีย