คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695-2696/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายความแถลงต่อศาลว่า บ.จะอยู่กับตัวความหรือไม่ไม่ทราบและจะนำตัว บ.มาศาลได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ แม้จะเป็นการแถลงเพื่อผลประโยชน์ของตัวความซึ่งเป็นคู่ความในคดีก็จริงอยู่แต่ก็จะถือว่าการแถลงดังกล่าวเป็นการกระทำของตัวความต่อศาลเพื่อวินิจฉัยว่าเป้นการละเมิดอำนาจศาลไม่ได้ เพราะการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษทางอาญาจึงต้องพิเคราะห์เจตนาขอบงผู้ที่จะต้องรับโทษประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่ทนายแถลงต่อศาลดังกล่าวตัวความมิได้อยู่ร่วมรู้เห็นในห้องพิจารณาด้วยโดยมิได้มาศาลในวันนั้นย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ทนายของตนได้แถลงต่อศาลว่าอย่างไรจึงถือว่าตัวความแถลงข้อความดังกล่าวอันเป็นเท็จในการพิจารณาของศาล ซึ่งจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ได้
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้อ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า บ.เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถสำนวนหนึ่ง และเป็นบุคคลไร้ความสามารถอีกสำนวนหนึ่งในวันนัดสืบพยานผู้ร้อง ผู้ร้องแถลงต่อศาลไม่สามารถนำตัว บ.มาศาลได้เนื่องจากไปอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 ทนายของผู้คัดค้านที่ 1 แถลงว่า บ.จะอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ไม่ทราบ จะนำตัวมาศาลได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ ศาลจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2523 ว่า ให้ไต่สวนว่าบ.อยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ครั้นศาลไต่สวนพยานผู้ร้องเสร็จแล้ว ในระหว่างนัดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 1 ฝ่ายผู้คัดค้านที่ 1 ขอเลื่อนการพิจารณาไปหลายครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ผู้คัดค้านที่ 1ได้ให้ทนายยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม และขอส่งประเด็นไปสืบพยานเหล่านั้นที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อแสดงว่า บ.อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งเป็นความเท็จศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต และถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีพยานมาสืบ แล้วมีคำสั่งในวันที่ 29 ธันวาคม 2524 ว่า บ.อยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 มีความจำเป็นต้องให้ได้ตัวมาตรวจดู ให้นัดพร้อมวันที่2 กุมภาพันธ์ 2525 ครั้นวันที่ 28 มกราคม 2525 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้ทนายยื่นคำแถลงว่า บ.ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2524ปรากฏตามสำเนาใบมรณบัตรท้ายคำแถลง (ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 เองเป็นผู้ไปแจ้งการตาย) ขอให้ศาลจำหน่ายคดี ดังนี้ การกระทำขอผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าว แสดงให้เห็นเจตนาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะขัดขวางมิให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1) ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาแต่ในสำนวนแรกนายโสภณ เที่ยงดีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นางบุญมี สุขมาลัย เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ พันตำรวจตรีสุเวชงดงาม ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน ในสำนวนหลัง พันจ่าเอกหญิงเบ็ญจภรณ์ เที่ยงดีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งนางบุญมี สุขมาลัย เป็นผู้ไร้ความสามารถ พันตำรวจตรีสุเวช งดงาม และนายโสภณ เที่ยงดี ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน

ในการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า พันตำรวจตรีสุเวชผู้คัดค้านที่ 1 และนายถวัลย์ วิรานนท์ ทนายผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้อง คำแถลงด้วยข้อความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จกล่าวถ้อยคำเสียดสีศาล มีเจตนาขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่จะให้ได้ตัวนางบุญมี สุขมาลัย มาศาล อันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 ให้จำคุกคนละ 3 เดือน

พันตำรวจตรีสุเวช งดงาม ผู้คัดค้านที่ 1 และนายถวัลย์ วิรานนท์ทนายผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้งดการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลแก่นายถวัลย์ วิรานนท์ ทนายผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2523 ซึ่งศาลนัดสืบพยานผู้ร้อง ปรากฏว่าผู้ร้องแถลงต่อศาลว่าไม่สามารถนำตัวนางบุญมีมาศาลได้ เนื่องจากนางบุญมี สุขมาลัย ไปอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 ศาลสอบผู้คัดค้านที่ 1 ทนายผู้คัดค้านที่ 1 แถลงว่า นางบุญมีจะอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ไม่ทราบ จะนำมาศาลได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ ศาลจึงมีคำสั่งให้ไต่สวนว่านางบุญมี สุขมาลัย อยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ หลังจากนั้นทนายผู้คัดค้านที่ 1 ก็ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลหลายครั้งหลายหนว่าศาลไม่มีอำนาจสั่งไต่สวนดังกล่าวเพราะเท่ากับเป็นการยืมมือศาลเพื่อหาพยานหลักฐานประกอบคดีของผู้ร้อง ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา และแม้จะไต่สวนไปแล้วก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ไม่ว่าการไต่สวนจะได้ความว่า นางบุญมีอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ก็ตาม ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่อาจบังคับให้นางบุญมี สุขมาลัย มาศาลได้เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนางบุญมี สุขมาลัยครั้นศาลไต่สวนพยานผู้ร้องเสร็จแล้ว ในระหว่างนัดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 1 ทนายผู้คัดค้านที่ 1 ขอเลื่อนการพิจารณาไปหลายครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ทนายผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมและขอส่งประเด็นไปสืบพยานเหล่านั้นที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตและถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีพยานมาสืบแล้วมีคำสั่งในวันที่ 29 ธันวาคม 2524 ว่านางบุญมี สุขมาลัย อยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 มีความจำเป็นต้องให้ได้ตัวมาตรวจดู จึงให้นัดพร้อมวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2525 ครั้นวันที่ 28 มกราคม 2525 ทนายผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำแถลงว่า นางบุญมี สุขมาลัย ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2524 ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายมรณบัตรท้ายคำแถลง ขอให้ศาลจำหน่ายคดี ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำแถลงว่าไม่เชื่อว่านางบุญมี สุขมาลัย ถึงแก่กรรมแล้วจริง ขอให้ไต่สวน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ไต่สวนว่านางบุญมีถึงแก่กรรมจริงหรือไม่ และเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 แถลงเท็จต่อศาลเป็นการขัดขวางมิให้การพิจารณาของศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรม อันถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จึงสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล

ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 29 สิงหาคม 2523 ที่ทนายผู้คัดค้านที่ 1 แถลงต่อศาลว่า นางบุญมี สุขมาลัย จะอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ไม่ทราบจะนำตัวมาศาลได้หรือไม่ก็ไม่ทราบนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว น่าเชื่อว่าในขณะที่ทนายผู้คัดค้านที่ 1 แถลงต่อศาลดังกล่าว ตัวผู้คัดค้านที่ 1 มิได้มาศาลและอยู่ในห้องพิจารณากับทนายด้วย ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าทนายของตนได้แถลงต่อศาลว่าอย่างไร แม้การแถลงของทนายผู้คัดค้านที่ 1 ว่านางบุญมี สุขมาลัย จะอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ไม่ทราบ จะนำตัวมาศาลได้หรือไม่ก็ไม่ทราบนั้น จะเป็นการแถลงเพื่อผลประโยชน์ของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีก็จริงอยู่ แต่ก็จะถือว่าการแถลงดังกล่าวเป็นการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อศาลเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาลไม่ได้ เพราะการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษทางอาญา จึงต้องพิเคราะห์เจตนาของผู้ที่จะต้องรับโทษประกอบด้วยเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่ทนายผู้คัดค้านที่ 1 แถลงต่อศาลดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้อยู่ร่วมรู้เห็นในห้องพิจารณาด้วย จึงถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 แถลงข้อความดังกล่าวอันเป็นเท็จในการพิจารณาของศาลไม่ได้

การยื่นคำร้องระบุพยานเพิ่มเติมและขอส่งประเด็นไปสืบพยานดังกล่าวทนายผู้คัดค้านที่ 1 ได้ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 และในเวลาต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้ทนายความยื่นคำแถลงต่อศาลลงวันที่ 28 มกราคม 2525ว่านางบุญมี สุขมาลัย ถึงแก่กรรมแล้วตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2524 ตามสำเนาภาพถ่ายมรณบัตรท้ายคำแถลง แสดงให้เห็นว่าตามใบมรณบัตรดังกล่าวนางบุญมีถึงแก่กรรมไปก่อนที่ทนายผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมและขอส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเวลา 3 เดือนเศษ ดังนั้นตอนที่ทนายผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมจะต้องทราบแล้วว่านางบุญมี สุขมาลัย ถึงแก่กรรมไปแล้ว เพราะตนเองเป็นผู้ไปแจ้งการตายฉะนั้นการยื่นคำร้องขอส่งประเด็นไปสืบพยานว่านางบุญมี สุขมาลัย อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีจึงเป็นความเท็จอีกประการหนึ่งด้วย

ที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า การยื่นคำร้องและคำแถลงของทนายผู้คัดค้านที่ 1ต่อศาลเป็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาของทนายความซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะตัวของทนายความผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ทราบด้วยนั้น ฟังไม่ขึ้นเพราะผู้คัดค้านที่ 1แต่งตั้งนายมนตรี เชาว์สุโข เป็นทนายแก้ต่างเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 และในวันเดียวกันนั้น นายมนตรี เชาว์สุโข ในฐานะทนายผู้คัดค้านที่ 1 ก็ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมและขอส่งประเด็นไปสืบพยานดังกล่าวที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีและต่อมาในเดือนมกราคม 2525 ยังได้ยื่นคำแถลงต่อศาลว่า นางบุญมี สุขมาลัยถึงแก่กรรมไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2524 เมื่อปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ 1เพิ่งแต่งตั้งนายมนตรี เชาว์สุโข เป็นทนายความใหม่ ถ้าหากทนายไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงและได้รับเอกสารหลักฐานโดยเฉพาะใบมรณบัตรของนางบุญมี สุขมาลัยจากผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว นายมนตรี เชาว์สุโขจะยื่นคำร้องและคำแถลงดังกล่าวต่อศาลได้อย่างไร ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าที่นายมนตรี เชาว์สุโข ทนายผู้คัดค้านที่ 1ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมและขอส่งประเด็นไปสืบพยานดังกล่าวที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อแสดงว่านางบุญมี สุขมาลัย อยู่จังหวัดสุพรรณบุรีก็ดี และยื่นคำแถลงต่อศาลว่านางบุญมี สุขมาลัยถึงแก่กรรมแล้วก็ดี ผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องเป็นผู้แจ้งให้นายมนตรีทราบและนำหลักฐานสำเนาภาพถ่ายใบมรณบัตรมาให้ด้วย มิฉะนั้นนายมนตรี เชาว์สุโข ย่อมไม่อาจทราบข้อเท็จจริงตามคำร้องและคำแถลงที่ตนทำยื่นไว้ต่อศาล การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1ดังกล่าว แสดงให้เห็นเจตนาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะขัดขวางมิให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ละเมิดอำนาจศาลในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share