คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966-2406/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 75ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสามารถหยุดการดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาลงได้ ฉะนั้น เมื่อลูกค้าของจำเลยยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยเป็นจำนวนมาก หากจำเลยยังคงผลิตสินค้าต่อไปก็ไม่แน่นอนว่าจำเลยจะจำหน่ายสินค้าได้หรือไม่ และในการผลิตต้องมีเงินลงทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและค่าแรงงานย่อมเสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินและความคงอยู่ของกิจการจำเลยซึ่งอยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการถือได้ว่าเป็นความจำเป็นตามความหมายของมาตรา 75 แล้วการที่จำเลยประกาศให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์หยุดงานชั่วคราวเพื่อรอ คำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทนโดยจำเลยจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานแก่โจทก์แล้วจึงชอบด้วยมาตรา 75

ย่อยาว

คดีทั้งสี่ร้อยสิบเอ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 441 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสี่ร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1มีอำนาจในการบริหารจัดการกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 ประกาศหยุดงานรวม 3 ครั้งครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2544 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2544 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2545 และครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 โดยจำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหมดร้อยละ 50 และอ้างว่าเป็นการให้หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ โจทก์ทั้งหมดเห็นว่าเป็นการให้หยุดงานโดยไม่สุจริต และไม่มีสิทธิอ้างมาตรา 75 ดังกล่าวได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างชำระตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์ทั้งหมดหยุดงานพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหมด
จำเลยทั้งสองทั้งสี่ร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1 หยุดการผลิตสินค้าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ชั่วคราวเนื่องจากบริษัทคู่ค้ายกเลิกคำสั่งซื้อ จำเลยที่ 1 จึงประกาศให้พนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับรายการสินค้าที่ถูกสั่งยกเลิกหยุดงานชั่วคราวเพื่อลดภาวะการขาดทุนของจำเลยที่ 1 โดยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งหมดที่หยุดงานในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างสุดท้ายทุกระยะเวลา 15 วัน อันเป็นเหตุจำเป็นและเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ โดยชอบด้วยกฎหมาย การประกาศหยุดงานของจำเลยที่ 1 เป็นการประกาศหยุดงานชั่วคราว เพื่อรอคำสั่งผลิตสินค้าจากลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทน ทั้งมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน โจทก์ทั้งหมดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งหมดครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความต่างงดสืบพยานและแถลงรับข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2544 บริษัทฟูจิสึ จำกัด ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าที่เคยสั่งไว้ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายและจำต้องลดต้นทุนของบริษัทด้วยการให้พนักงานบางส่วนรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดหยุดงานเป็นการชั่วคราว โดยพนักงานที่ถูกสั่งให้หยุดงานชั่วคราวส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวกับรายการสินค้าที่ถูกยกเลิกการสั่งซื้อเป็นการชั่วคราวแต่มีบางส่วนที่คงเหลือไว้นอกจากนี้บางส่วนในแผนกอื่นๆ ก็ถูกสั่งให้หยุดงานชั่วคราวด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งประกาศใช้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541โดยพนักงานทุกคนทราบและมีการจ่ายค่าจ้างให้พนักงานที่หยุดงานในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างสุดท้ายทุกระยะเวลา 15 วัน มิได้ติดค้าง จำเลยที่ 1 ประกาศใช้มาตรา 75 รวม 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2544 มีผลถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน2544 วันที่ 1 ธันวาคม 2544 มีผลถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 วันที่ 16 มกราคม 2544 มีผลถึงวันที่ 31 มกราคม 2545 และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 มีผลถึงวันที่ 30เมษายน 2545 แต่ในวันที่ 1 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 1 ประกาศเลิกจ้างพนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดด้วย การจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 แก่โจทก์ทุกคนสิ้นสุด ณวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 บริษัทฟูจิสึ จำกัด ได้ชดใช้ค่าเสียหายจากการยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าเพียง 23,000,000 บาท จากจำนวนที่จำเลยที่ 1 เรียกร้อง 225,000,000บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 1 มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีประมาณ 28,200,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2545มีการจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ คงเหลือเงิน 6,000,000 บาทเศษ จำเลยทั้งสองยอมรับจำนวนเงินที่ขอมาตามเอกสารเพิ่มเติมท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งหมดจำนวน 5,407,666.07 บาท
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บริหารแผนของจำเลยที่ 1กระทำการไปตามอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายจึงมีฐานะเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่และความรับผิดต่อโจทก์ทั้งหมดเป็นการส่วนตัว การที่จำเลยที่ 1 ถูกบริษัทฟูจิสึ จำกัด ยกเลิกการสั่งสินค้าที่เคยสั่งไว้ จำเลยที่ 1 จึงต้องลดต้นทุนด้วยการให้พนักงานบางส่วนหยุดชั่วคราว โดยประกาศรวม 4 ครั้ง ติดกัน เพื่อรอคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้า การสั่งหยุดงานชั่วคราวด้วยเหตุผลดังกล่าว มิใช่เป็นเหตุต่างๆ ที่มิใช่เหตุสุดวิสัยตามความหมายของมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ประกาศของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระค่าจ้างส่วนที่ขาดแก่โจทก์ทั้งหมด พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 441 ในจำนวนเงินตามบัญชีท้ายคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหมด
จำเลยทั้งสี่ร้อยสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า ที่จำเลยที่ 1 ประกาศให้โจทก์ทั้งหมดหยุดงานเป็นการชั่วคราวชอบด้วยมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งหมดหยุดงานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากถูกบริษัทฟูจิสึจำกัด ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้า จำเลยที่ 1 จำต้องลดต้นทุนด้วยการให้พนักงานบางส่วนรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดซึ่งทำงานเกี่ยวกับรายการสินค้าที่ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อหยุดงานชั่วคราวด้วย เหตุดังกล่าวเป็นความจำเป็นซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิประกาศให้โจทก์ทั้งหมดหยุดงานชั่วคราวได้ตามมาตรา 75 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 75 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัยให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน” นั้น เป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจให้สามารถหยุดการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ชั่วคราว เพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาลงได้ ฉะนั้น เมื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนมาก หากจำเลยที่ 1 ยังคงผลิตสินค้าดังกล่าวต่อไป ก็ไม่แน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวได้หรือไม่ และในการผลิตต้องมีเงินลงทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและค่าแรงงาน ย่อมเสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินและความคงอยู่ของกิจการจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการ กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นความจำเป็นตามความหมายของมาตรา 75 แล้ว แม้ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนจากลูกค้า ก็เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับ จึงไม่เป็นการลบล้างความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 มีอยู่แต่อย่างใด และบทบัญญัติแห่งมาตรา 75 ดังกล่าวเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้าง โดยถือเป็นการคุ้มครองนายจ้างเพื่อให้กิจการของนายจ้างคงอยู่ได้ต่อไป และในขณะเดียวกันลูกจ้างก็จะได้รับประโยชน์ไปในตัวด้วยโดยได้รับการคุ้มครองให้ได้รับค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานตลอดเวลาที่นายจ้างสั่งหยุดงาน บทกฎหมายดังกล่าวมิใช่มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองแต่เฉพาะลูกจ้างดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ฉะนั้นเมื่อมีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 สามารถสั่งให้หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้ดังที่กล่าวมา การที่จำเลยที่ 1 ประกาศให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดหยุดงานชั่วคราวรวม 4 ครั้ง เป็นเวลา 109 วัน เพื่อรอคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทน โดยจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานแก่โจทก์ทั้งหมดแล้ว การประกาศหยุดงานดังกล่าวจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 75 แล้ว จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติเต็มจำนวนแก่โจทก์ทั้งหมดดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด

Share