แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อ337,800 บาท กับค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ 60,000 บาท รวมเป็น 397,800 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยมิได้อุทธรณ์ เท่ากับจำเลยยินยอมที่จะชำระค่าขาดประโยชน์และค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าขาดประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อโดยกำหนดให้450,000 บาท ส่วนค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นกำหนดให้เหมาะสมแล้ว จำเลยฎีกา ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีเพียงค่าขาดประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดเพิ่มให้แก่โจทก์ 112,200 บาท จำเลยจะฎีกาโดยถือเอาจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อ จากโจทก์จำนวน 6 คัน โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้ง 6 คันแก่โจทก์เป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันและโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเรื่อยมาซึ่งโจทก์อาจนำออกให้บุคคลภายนอกเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาท ต่อคันรวมค่าขาดประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้ง 6 คัน เป็นเงิน 1,710,000 บาท และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้ง 6 คัน คันละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,010,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อทั้ง 6 คันนั้น จำเลยที่ 1 ส่งมอบคืนแก่โจทก์แล้วหากโจทก์นำออกประมูลขายแก่บุคคลภายนอกจะได้ราคาไม่ต่ำกว่าคันละ800,000 บาท โจทก์กลับได้กำไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์และค่าเสื่อมราคาจากจำเลยทั้งสอง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่โจทก์เรียกคันละ 30,000 บาทต่อเดือนนั้นเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเลื่อนลอย จำเลยที่ 1ใช้รถด้วยความระมัดระวังตามลักษณะของรถยนต์และประเภทการใช้งาน รถยนต์ที่เช่าซื้อทั้ง 6 คันมิได้ชำรุดทรุดโทรม จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสื่อมราคาขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 396,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อทั้ง 6 คัน เป็นเงิน 337,800 บาทกับค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อทั้ง 6 คัน เป็นเงิน 60,000 บาท รวมเป็นเงิน 396,600 บาท (ที่ถูกรวมเป็นเงิน 397,800 บาท) ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่ากับจำเลยทั้งสองยินยอมที่จะชำระค่าขาดประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อ และค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เฉพาะค่าขาดประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อโดยกำหนดให้เป็นเงิน 450,000 บาท ส่วนค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นกำหนดให้เหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 ฎีกา ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีเพียงค่าขาดประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นเงิน 112,200 บาท จำเลยที่ 2 จะฎีกาโดยถือเอาจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาหาได้ไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ โดยสามารถนำไปให้บุคคลอื่นเช่าหรือจะให้เช่าได้ทุกเดือน จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์นั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 2