คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2694/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379การที่จะเรียกเบี้ยปรับแก่กัน คู่สัญญาจะต้องตกลงกันกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการไม่ชำระหนี้คดีนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งมีข้อความว่า “ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ผู้ให้กู้จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแล้ว ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดดังกล่าวเมื่อใดก็ได้แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า” ข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาและโจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยสูงถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในระหว่างสัญญาได้ ไม่ว่าจำเลยผู้กู้จะผิดนัดหรือไม่ก็ตามการคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงเข้าลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 148 วรรคสาม กรณีไม่อาจอนุโลมเป็นเบี้ยปรับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินไปจากธนาคารโจทก์ 4,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จะชำระดอกเบี้ยและผ่อนต้นเงินตามสัญญาให้โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนเดือนละไม่ต่ำกว่า 48,950 บาท ทุกวันสิ้นเดือน โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 10230 และ 10231 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์ในวงเงิน 4,000,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ทุกเดือนตามสัญญา โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 3,848,259.17 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้นำทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ทราบ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ชำระหนี้ทั้งต้นเงินกับดอกเบี้ยให้โจทก์แล้วรวม 2,500,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์โดยจำนองที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเป็นประกันและเป็นหนี้โจทก์จริงตามฟ้อง แต่ในส่วนดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญากู้ให้โจทก์คิดได้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์จำเลยไม่ได้ถือสัญญาเป็นข้อสำคัญคงให้เป็นเพียงค่าเสียหายที่โจทก์กำหนดไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับซึ่งเห็นว่าจำนวนเบี้ยปรับดังกล่าวสูงเกินส่วน เห็นควรกำหนดให้โจทก์ได้รับเพียงอัตราร้อยละ 15 ต่อปี พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,583,723.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 3,848,259.17 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 10230และ 10231 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากขาดอยู่เท่าใดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่23 กรกฎาคม 2535 จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินไปจากธนาคารโจทก์4,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตกลงจะชำระเงินกู้คืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 25 ปี โดยจะผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ48,950 บาท หากผิดนัดไม่ชำระงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับคดีได้ทันที และหากจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเข้ากับต้นเงินในวันครบกำหนด 1 ปี โดยให้ถือว่าเป็นต้นเงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน และยอมให้โจทก์ปรับเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้านอกจากนี้จำเลยยังยอมชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดอีกเดือนละเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของเงินงวดรายเดือนที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้วแต่โจทก์จะกำหนด ทั้งยอมให้โจทก์นำเบี้ยปรับทบรวมกับต้นเงินที่ค้างชำระและยอมเสียดอกเบี้ยในเบี้ยปรับในอัตราเดียวกันกับที่จำเลยจะต้องเสียให้โจทก์ตามสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวในวันเดียวกันจำเลยได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 10230 และ 10231 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันในวงเงิน 4,000,000 บาท โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยินยอมให้โจทก์บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาชำระหนี้ในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ตามหนังสือสัญญากู้เงิน หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกัน ปรากฏว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์เพียงบางเดือน จึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา และโจทก์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2535 จากอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปีเป็นอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2536จากอัตราร้อยละ 13 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2535 จำนวน 98,110 บาท ซึ่งโจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้เพียงบางส่วน หลังจากนั้นจำเลยผิดนัดไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์อีกเลย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย คิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ค้างชำระโจทก์เป็นต้นเงิน 3,848,259.17 บาท กับดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงินกู้ที่ค้างชำระซึ่งสัญญากู้ระบุให้โจทก์เรียกเอาจากจำเลยนั้น เป็นเบี้ยปรับหรือไม่และจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราใดให้แก่โจทก์ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ” จากบทบัญญัติดังกล่าว การที่จะเรียกเบี้ยปรับแก่กัน คู่สัญญาจะต้องตกลงกันกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการไม่ชำระหนี้ คดีนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 1 วรรคสอง ซึ่งมีข้อความว่า “ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ผู้ให้กู้จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแล้ว ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า” ข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาและโจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยสูงถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาได้ไม่ว่าจำเลยผู้กู้จะผิดนัดหรือไม่ก็ตาม การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงเข้าลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิดังกล่าวนี้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2536 ก่อนแล้ว ต่อมาภายหลังจึงได้บอกกล่าวและฟ้องบังคับจำเลย ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมิได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามข้อสัญญาดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และกรณีไม่อาจอนุโลมเป็นเบี้ยปรับได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 4,583,723.82 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงิน 3,848,259.17 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share