แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลย แม้จำเลยจะอุทธรณ์ขอให้ศาลลดโทษให้เพียงประการเดียวโดยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ก็ต้องวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง หากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วพิพากษายืน ปัญหาดังกล่าวจึงจะถึงที่สุดเมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งเฮโรอีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,7, 8, 15, 65, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33,80, 91 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 6, 7 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง กระทงหนึ่งลงโทษประหารชีวิต และตามมาตรา 65 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 52(1) อีกกระทงหนึ่ง จำคุกตลอดชีวิตการรับสารภาพของจำเลยต่อศาลในภายหลังเป็นเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่มีเหตุจะลดโทษให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52,53 ความผิดตามมาตรา 66 วรรคสอง คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตความผิดตามมาตรา 65 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 คงจำคุก 25 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกตลอดชีวิตนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3ลดโทษแก่จำเลยโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 เพียงประการเดียว ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็วินิจฉัยคดีเฉพาะการลดโทษเท่านั้น แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยถึงประหารชีวิต แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245วรรคสอง หากศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยแล้วพิพากษายืน ปัญหาดังกล่าวจึงจะถึงที่สุดเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245วรรคสอง แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี