แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์จะตกอยู่ในภารจำยอมก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นกรณีการใช้ทางในที่ดินของบุคคลหนึ่งจะตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้นไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งเจ้าของบ้านอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของบุคคลดังกล่าว โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ใกล้กับบ้านโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่บ้านตั้งอยู่จึงไม่อาจอ้างการได้สิทธิทางภารจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401ทางพิพาทจึงตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม โจทก์ที่ 1 และบริวารย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทตลอดเวลา หากจำเลยปิดประตูเหล็กตาข่ายไว้สองบานหรือบานใดบานหนึ่ง ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอม ลดไปหรือเสื่อมความสะดวก จำเลยย่อมไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 29447 ซึ่งตั้งอยู่ในซอยริมคลองป่าเหล้าตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านเลขที่ 18/6 ซอยริมคลองป่าเหล้า ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปลูกในที่ดินของโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวไม่น้อยกว่า 25 ปี ที่ดินตั้งบ้านของโจทก์ทั้งสองล้อมรอบด้วยที่ดินแปลงอื่น ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ ทางสาธารณะที่ใกล้ที่สุดอยู่ทางทิศตะวันออกติดที่ดินของจำเลยว่างประมาณ 4 เมตรยาวประมาณ 25 เมตร เป็นทางเดินและทางรถยนต์เข้าออกสู่ถนนสาธารณะตลอดมาไม่น้อยกว่า 25 ปี เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2534จำเลยได้ปิดกั้นทางเดินรถยนต์เข้าออก ขอให้พิพากษาว่าทางเดินตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นทางภารจำยอมและให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมในโฉนดที่ดินเลขที่ 29444 และ 29445 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ถ้าจำเลยไม่ปฎิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้บังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางออกไปจาก ที่พิพาท ห้ามมิให้จำเลยและบริวารขัดขวาง การใช้ทางพิพาทของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางออกก็ให้โจทก์ทั้งสองหรือตัวแทนของโจทก์ทั้งสองมีอำนาจรื้อถอนรั้วและสิ่งปิดกั้นดังกล่าวได้โดย ห้ามมิให้จำเลยและบริวารขัดขวาง
จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 1 อยู่ติดที่ดินของจำเลยโดยอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินของจำเลย โจทก์ทั้งสองเดินผ่านที่ดินของจำเลยและของนางเจือเพื่อออกสู่ทางสาธารณะโดยจำเลยและนางเจือ อนุญาตให้เดินผ่านได้ ทางที่โจทก์ทั้งสองเดินผ่านนั้นเป็นทางส่วนบุคคลที่นางเจือและจำเลยสงวนสิทธิไว้มิให้บุคคลภายนอกเข้ามาในที่ดินของจำเลย โดยการทำประตูรั้วเปิดปิดโจทก์ทั้งสองใช้เส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะโจทก์ทั้งสองให้ทางเดินออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินของจำเลยไม่ถึง 10 ปี จึงไม่เป็นทางภารจำยอม และไม่ได้เป็นการเข้าออกโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ การเข้าออกโจทก์ทั้งสองต้องขออนุญาตจากจำเลย โจทก์ทั้งสองรบกวนการครอบครอง ที่ดินของจำเลยและมีเรื่องโต้เถียงกรรมสิทธิ์ที่ดินกับจำเลย จำเลยจึงต้องปิดประตูรั้วบ้านเพื่อมิให้คนและรถเข้าออกในยามวิกาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 29444 และ 29444 ตำบลนา (ตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ถ้าจำเลยไม่จดทะเบียนภารจำยอมดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามมิให้จำเลยและบริวารขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมของโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นออกไปจากที่พิพาท สำหรับประตูรั้วนั้นให้จำเลยเปิดให้โจทก์ทั้งสองใช้รถยนต์เข้าออกได้ตามปกติและให้ปิดไว้เมื่อไม่ได้ใช้ประตูดังกล่าวแล้ว จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาประการต่อไปว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์หรือไม่ และมีความกว้างเท่าใดข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบตรงกันและมิได้ฎีกาโต้เถียงกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 2ที่ดินโฉนดเลขที่ 19447 เอกสารหมาย จ.1 ของโจทก์ที่ 1 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 29445 และ 29444 เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2จำเลย เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเพิ่ม หนูนิล ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยและโจทก์ที่ 2 ต่อมานายเพิ่ม ได้แบ่งแยกให้แก่โจทก์ที่ 1 และจำเลย ที่ดินของโจทก์ที่ 1 กับจำเลยอยู่ติดกันโดยที่ดินของโจทก์ที่ 1 อยู่ทิศตะวันตกของที่ดินของจำเลยที่ดินของโจทก์ที่ 1 อยู่ด้านในขณะที่นายเพิ่มยกที่ดินดังกล่าวให้นั้นได้สั่งไว้ให้เว้นเป็นทางเดินเข้าออกแก่ที่ดินที่อยู่ด้านใน ซึ่งในเวลาต่อมาจำเลยก็ได้เว้นทางเดินให้กว้าง 1 เมตร และโจทก์ทั้งสองได้ใช้ทางเดินจากที่ดินโจทก์ที่ 1 ออกสู่ถนนสาธารณะโดยผ่านที่ดินของจำเลยเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของจำเลยนั้นเป็นการถือวิสาสะในระหว่างพี่น้องด้วยกัน หรือได้รับอนุญาตจากจำเลยหรือไม่จำเลยเบิกความว่า ได้ให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทกว้าง 1 เมตรโดยทำตามคำสั่งของนายเพิ่มแต่จำเลยก็ยังสงวนสิทธิ์ด้วยการทำประตูรั้วตาข่าย 2 บาน บานเล็กกว้างประมาณ 1 เมตร จะเปิดให้พี่น้องที่มีที่ดินอยู่ด้านในรวมทั้งโจทก์ทั้งสองใช้เดินเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ โดยมอบกุญแจให้แก่โจทก์เปิดเฉพาะประตูบานเล็ก 1 ดอก ส่วนประตูบานใหญ่จะปิดไว้และจะเปิดเมื่อจำเลยนำรถเข้าออกเท่านั้น จากคำเบิกความของจำเลยที่ว่าได้เว้นเป็นทางเดินกว้าง 1 เมตร ให้แก่ที่ดินที่อยู่ด้านในรวมทั้งโจทก์ทั้งสองใช้เดินเข้าออกสู่ถนนสาธารณะตามเจตนาของนายเพิ่มเจ้าของที่ดินเดิมเมื่อพิเคราะห์ประกอบกับพฤติการณ์ตามความเป็นจริงที่จำเลยปล่อยให้โจทก์ทั้งสองและพี่น้องที่อยู่ด้านในได้ใช้ทางเดินดังกล่าวมาเป็นเวลาช้านานกว่า 10 ปีแล้ว ที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ทั้งสองต้องมาขออนุญาตจากจำเลยนั้น เห็นว่าจำเลยนำสืบอ้างเพียงลอย ๆ ว่า โจทก์ทั้งสองขออนุญาตจากจำเลยและมิใช่เป็นการใช้โดยถือวิสาสะแต่โจทก์ทั้งสองใช้ทางดังกล่าวอย่างทางภารจำยอมและได้ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความแล้ว แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์จะตกอยู่ในภารจำยอมก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น กรณีการใช้ทางในที่ดินของบุคคลหนึ่งจะตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งเจ้าของบ้านอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของบุคคลอื่นดังกล่าวดังนั้นโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของบ้านเลขที่18/6 แต่มิได้เป็นเจ้าของที่ดินที่บ้านดังกล่าวตั้งอยู่จึงไม่อาจอ้างการได้สิทธิทางภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 เพราะเป็นการใช้ทางภารจำยอมโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 29447 ที่โจทก์ที่ 2 ปลูกบ้านอยู่ โจทก์ที่ 2ไม่อาจอ้างว่าที่ดินของจำเลยตกเป็นทางภารจำยอมแก่บ้านของโจทก์ที่ 2 ได้ ทางพิพาทจึงตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เข้าสู่สำนวนโดยถูกต้องตามวิธีพิจารณาแม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ส่วนที่จำเลยฎีกาในประการสุดท้ายว่า ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยเปิดทางให้โจทก์ใช้รถยนต์เข้าออกได้ตามปกติและปิดไว้เมื่อไม่ใช้เป็นการเพิ่มภาระแก่ภารจำยอมและพิพากษาเกินไปกว่าประเด็นข้อพิพาทนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม ซึ่งโจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ได้แล้ว โจทก์ที่ 1 และบริวารย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทตลอดเวลา หากจำเลยปิดประตูเหล็กตาข่ายไว้สองบานหรือบนใดบานหนึ่งตามภาพถ่ายหมาย จ.2 ภาพล่าง ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก จำเลยย่อมไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยปิดเปิดประตูเหล็กตาข่ายดังกล่าว จึงไม่จำเป็นและเป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 29444 และ 29445ตำบลนา (ตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ของจำเลยในส่วนทางพิพาทตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 กว้างประมาณ 3 เมตร ตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 29447 ตำบลนา (ตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ของโจทก์ที่ 1และให้จำเลยไปขอจดทะเบียนภารจำยอมดังกล่าว หากจำเลยไม่ไปดำเนินการดังกล่าว ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามมิให้จำเลยและบริวารขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมของโจทก์ที่ 1 และบริวาร และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นออกไปจากทางภารจำยอม ให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนที่บังคับให้จำเลยเปิดและปิดประตูรั้วนั้นเสียและให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2