คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1992/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้น เมื่อโจทก์จะรับโอนที่ดินพิพาทโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โจทก์มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าที่ดินมาวางศาลภายในกำหนดเพื่อชำระให้แก่จำเลยเสียก่อน การที่โจทก์นำเงินค่าที่ดินไปวางศาลแล้วต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้งดการจ่ายเงินไว้ก่อน เนื่องจากโจทก์เห็นว่าจำเลยจะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนทั้งที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอหักกลบลบหนี้ได้เพราะคำพิพากษาศาลฎีกามิได้กำหนดให้จำเลยรับผิดชอบค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนด้วย การวางเงินของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการวางเงินที่จำเลยไม่อาจรับเงินที่วางไว้ได้ในทันที แสดงให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งมีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระตอบแทนให้แก่จำเลยยังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิบังคับคดีโดยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ได้ อย่างไรก็ดี แม้โจทก์ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์โดยมิชอบ แต่หลังจากนั้น ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้เบิกจ่ายเงินที่โจทก์นำมาวางศาลให้แก่จำเลยได้ซึ่งเมื่อโจทก์อุทธรณ์และฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนจำเลยจึงต้องรับเงินที่โจทก์นำมาวางศาลและถือได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยได้ปฏิบัติการชำระหนี้ต่างตอบแทนตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการบังคับคดีของโจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 66376, 66378 และ 66379 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมกับจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินเฉพาะส่วนของโฉนดเลขที่ 3969 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครที่ตรงและมีส่วนกว้างเท่ากับที่ดินที่นายวินัย พันธุมจินดา ได้จดทะเบียนภารจำยอมไว้แล้วนั้น ให้โจทก์และรับเงินค่าที่ดินจำนวน 14,077,000 บาทจากโจทก์ ทั้งนี้ให้โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางศาลภายในกำหนด180 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา หากโจทก์ไม่วางเงินในกำหนด ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิริบเงินที่ชำระแล้วทั้งหมด และโจทก์หมดสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษานี้ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนและจดทะเบียนภารจำยอมได้ ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าที่ดินที่ชำระไว้6,000,000 บาท และชำระค่าเบี้ยปรับเท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับชำระไว้ทั้งหมดอีก 6,000,000 บาท รวม 12,000,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาในวันที่ 6 มกราคม 2538 โจทก์นำเงินจำนวน 14,077,000 บาท มาวางศาลเพื่อชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลา 180 วันตามคำพิพากษาศาลฎีกา ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2538 โจทก์ยื่นคำแถลงว่าเงินที่วางศาลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมและค่าภาษีที่จะต้องชำระให้แก่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียนจึงขอให้งดการจ่ายเงินไว้ก่อน ในวันเดียวกันนั้นเองศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมรดกความของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 โจทก์ยื่นคำร้องพร้อมแนบหนังสือของเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน ที่สอบถามศาลชั้นต้นว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการจ่ายเงินไว้ก่อนนั้นถือว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาถูกต้องแล้วหรือไม่และโจทก์มีสิทธิบังคับตามคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ ซึ่งในวันเดียวกันศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่า ศาลออกคำบังคับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมรดกความของจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว และโจทก์ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาถูกต้องครบถ้วน ให้ดำเนินการจดทะเบียนตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามและมีคำสั่งเกี่ยวกับเงินค่าที่ดินที่โจทก์วางศาลในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ได้นำคำพิพากษาศาลฎีกาไปบังคับคดีแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีเป็นจำนวน 36,879,704 บาท ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2535 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นสอบทั้งสองฝ่ายแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ดังนั้น เงินที่โจทก์ได้วางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกความของจำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะรับเงินดังกล่าวไปจากศาลได้ ส่วนที่โจทก์ขอให้งดการจ่ายเงินดังกล่าวเนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการจดทะเบียนโอนตามสัญญาจะซื้อขายนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากคำพิพากษา ซึ่งโจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2นอกเหนือจากคดีนี้ จึงมีคำสั่งอนุญาตให้เบิกจ่ายเงินจำนวน 14,077,000บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมรดกความของจำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า โจทก์บังคับคดีโดยไม่สุจริต การที่โจทก์วางเงินโดยไม่ให้จำเลยที่ 1 รับไปเท่ากับโจทก์ไม่ได้วางเงินค่าที่ดินตามเงื่อนไขในคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์จึงหมดสิทธิหรือไม่มีสิทธิบังคับคดี ขอให้เพิกถอนการบังคับของโจทก์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยชอบแล้ว ไม่จำเป็นต้องไต่สวน ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าการที่โจทก์วางเงินจำนวน 14,077,000 บาท แต่ต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้งดการจ่ายเงินไว้ก่อน เป็นการวางเงินที่มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขคำพิพากษาศาลฎีกา จึงเป็นไปโดยไม่สุจริตและเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนการบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นเมื่อโจทก์จะรับโอนที่ดินพิพาทโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โจทก์มีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวน 14,077,000 บาทมาวางศาลภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาเพื่อชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เสียก่อนจึงจะมีสิทธิดำเนินการเช่นนั้นได้ การที่โจทก์นำเงินจำนวน 14,077,000 บาท ไปวางศาล แล้วต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้งดการจ่ายเงินไว้ก่อน เนื่องจากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนทั้งที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอหักกลบลบหนี้ได้เพราะคำพิพากษาศาลฎีกามิได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนด้วย การวางเงินของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการวางเงินที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจรับเงินที่วางไว้ได้ในทันที แสดงให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งมีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิบังคับคดีโดยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ได้ อย่างไรก็ดี แม้โจทก์ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์โดยมิชอบ แต่หลังจากนั้นศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้เบิกจ่ายเงินที่โจทก์นำมาวางศาลให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ซึ่งเมื่อโจทก์อุทธรณ์และฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับเงินที่โจทก์นำมาวางศาล และถือได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ต่างตอบแทนตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการบังคับคดีของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share