แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับการที่จำเลยแต่ละคนบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์รวมถึงการที่จำเลยแต่ละคนทำละเมิดเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดและจะต้องรับผิดต่อโจทก์ให้เป็นที่เข้าใจได้อย่างดีไม่มีข้อความใดเคลือบคลุมอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหาคำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วแม้มิได้ระบุว่าบุกรุกอย่างไรและมีความกว้างยาวเท่าใดก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไปฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นนี้แม้คำสั่งศาลชั้นต้นจะเป็นคำสั่งที่ชอบแต่ก็เป็นคำสั่งที่ชอบเฉพาะประเด็นที่ว่าโจทก์ในฐานะคู่ความจะอุทธรณ์ในเรื่องขอสืบพยานใหม่ไม่ได้เท่านั้นมิได้หมายความว่าห้ามศาลอุทธรณ์มิให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานใหม่ให้ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแห่งคดีจนสิ้นกระแสความและพิพากษาใหม่ด้วยซึ่งเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243
ย่อยาว
คดีทั้งหกสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ทุกสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สามว่าจำเลยที่ 5 ที่ 6 เรียกจำเลยในสำนวนที่สี่ว่าจำเลยที่ 7 เรียกจำเลยในสำนวนที่ห้าว่า จำเลยที่ 8 และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่หกว่า จำเลยที่ 9 และที่ 10
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 165, 485,และ 370 เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2537 จำเลยทั้งสิบได้บุกรุกเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 บุกรุกที่ดิน เลขที่ 165 ด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 300 ตารางวา จำเลยที่ 3 ที่ 4 บุกรุกที่ดิน เลขที่ 165 ด้านทิศตะวันออก เนื้อที่300 ตารางวา จำเลยที่ 5 ที่ 6 บุกรุกที่ดิน เลขที่ 165 และเลขที่ 485 ด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ 200 ตารางวา จำเลยที่ 7บุกรุกที่ดิน เลขที่ 370 ด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ 400 ตารางวาจำเลยที่ 8 บุกรุกที่ดิน เลขที่ 165 และเลขที่ 485 ด้านทิศตะวันออกเนื้อที่ 200 ตารางวา จำเลยที่ 9 และที่ 10 บุกรุกที่ดินเลขที่ 165 ด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 100 ตารางวา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสิบออกไปจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสิบเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 6 โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลย ที่ 2 ที่ 3 ขาดนัด ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยแต่ละคนต่างครอบครองที่ดินของตนโดยไม่เคยบุกรุกที่ดินของโจทก์ หากการครอบครองที่ดินของจำเลยเหลี่อมล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยก็ครอบครองทำประโยชน์เกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินคืนฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยมิได้บรรยายว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์อย่างไร ส่วนไหน กว้างยาวเท่าใด บุกรุกด้วยวิธีใด เข้าไปทำอะไรเป็นเหตุให้จำเลยทุกคนไม่สามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งหกสำนวนเคลือบคลุม พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหกสำนวน
โจทก์ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาตามรูป คดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งหกสำนวนอ้างว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์อย่างไร ส่วนไหน มีความกว้างยาวเท่าใดและเข้าไปทำอะไร ทำให้จำเลยแต่ละคนไม่สามารถเข้าใจและต่อสู้คดีได้ เห็นว่า ตามฟ้องทุกสำนวนบรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับการที่จำเลยแต่ละคนบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ รวมถึงการที่จำเลยแต่ละคนทำละเมิดเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดและจะต้องรับผิดต่อโจทก์ให้เป็นที่เข้าใจได้อย่างดี ไม่มีข้อความใดเคลือบคลุมอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหา คำฟ้องโจทก์ทั้งหกสำนวนจึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วแม้มิได้ระบุว่าบุกรุกอย่างไรและมีความกว้างยาวเท่าใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ฟ้องโจทก์ทั้งหกสำนวนจึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ฎีกาต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการสืบพยานโจทก์จำเลยโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น จึงต้องถือว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานถึงที่สุด โจทก์ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบให้สมข้ออ้างของตนได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานนั้นจะเป็นคำสั่งที่ชอบ แต่ก็เป็นคำสั่งที่ชอบเฉพาะประเด็นที่ว่า โจทก์ในฐานะคู่ความจะอุทธรณ์ในเรื่องขอสืบพยานใหม่ไม่ได้ มิได้หมายความว่าห้ามศาลสูงมิได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานใหม่ให้ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแห่งคดีจนสิ้นกระแสความและพิพากษาใหม่ด้วย อำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในอันที่จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่นั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งมีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 และในกรณีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ใช้อำนาจนี้โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยเสียก่อนแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่