คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2682/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า ขอให้จำเลยทั้งห้าเปิดทางให้โจทก์ 1 ทาง ใน 3 ทาง ตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องแสดงว่าโจทก์พอใจในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งใน 3 เส้นทางนั้นแล้วฉะนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เปิดทางที่ 1 ให้โจทก์ซึ่งตรงตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาอ้างว่าทางที่ 1 ไม่สะดวกเพราะเป็นทางคดหักมุมไม่สะดวกในการใช้อีกได้เพราะเป็นการขัดกับคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์นั้นเอง ฟ้องของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดทางเดินให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย เป็นคำขอหลักแห่งคดี คำขอที่เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าอันเนื่องจากการไม่เปิดทางเดินให้โจทก์นั้นเป็นคำขอต่อเนื่อง เมื่อคำขอหลักเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คำขอต่อเนื่องแม้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่จะฟ้องหรือถูก จ.และ ส.ผู้รับโอนที่ดินโฉนดที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจากโจทก์ฟ้องเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือใช้ค่าทดแทนแต่อย่างใด คงเป็นสิทธิของ จ. และ ส.ที่จะร้องสอดเข้าในคดี หากเห็นว่าตนมีส่วนตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ จึงยังไม่มีเหตุที่จะเรียกคนทั้งสองเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 26570 ตำบลฉิมพลี (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชันกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา และยังมีพี่น้องโจทก์อีกหกคน มีที่ดินนา 6 แปลง อยู่ติดต่อกันไปพร้อมปลูกบ้านอยู่อาศัยตอนในซึ่งเป็นด้านหลัง ส่วนด้านหน้ามีคันนากว้างกว่า6 เมตร ใช้เป็นทางเดิน ทางเกวียน รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ไปมาหาสู่กันและเพื่อออกไปสู่ถนนสวนผักซึ่งเป็นถนนสาธารณะรถยนต์แล่นผ่านไปมาได้ตามรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่ง ร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคนลงชื่อประทับตราทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์ประกอบการค้าที่ดินจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันซื้อที่ดินแล้วจัดสรรแบ่งขายหากำไรเป็นของจำเลยที่ 1 บ้าง เป็นส่วนตัวของจำเลยที่ 2 บ้าง ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นลูกค้าซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1และที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 26570 ของโจทก์ทั้งหมด และยังได้ซื้อที่ดินของพี่น้องโจทก์อีกทั้งหกคน โดยทำสัญญาจะซื้อขายไว้ยังคงเหลือที่ดินตอนในอยู่ 4 แปลง คือโฉนดเลขที่ 51185, 26568,26567 และ 26566 พร้อมบ้านพักอาศัยรวม 3 ครอบครัว จำเลยที่ 1และที่ 2 ให้โจทก์รื้อบ้านออกจากที่ดินแล้วไปปลูกใหม่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 26568 กับ 51185 ซึ่งโจทก์ซื้อจากนางทองดี โพธิ์รัตน์กับนางละมัย ภู่เกิด พี่น้องของโจทก์ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบครัวโจทก์อยู่ติดกับครอบครัวนายอรุณ ม่วงสวย นายเจียก ม่วงสวยพี่น้องของโจทก์ ตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 4 ในสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และระหว่างนายอรุณและนายเจียกกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อตกลงแยกกันชัดแจ้งแต่ละสัญญาว่า ผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายใช้ทางออกเป็นประตูกว้าง 2.20 เมตร บริเวณรั้วที่กั้นที่ดินทั้งสองฝ่ายโดยผู้จะขายเป็นผู้สร้างประตูเปิดปิด ตามแบบและตามตำแหน่งผู้จะซื้อกำหนดให้และผู้จะขายสัญญาว่าจะไม่ให้ผู้อื่นผ่านหรือใช้ประตูเข้าออก หากผิดสัญญายินยอมให้ผู้จะซื้อปิดทางเข้าออกดังกล่าวทันทีเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปแล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ปิดทางตรงด้านหน้าบ้านโจทก์แล้วโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 3 ปลูกบ้านอยู่อาศัย ส่วนที่ดินข้างบ้านโจทก์โฉนดเลขที่ 51186 จำเลยที่ 2 ได้แบ่งแยกโฉนดเป็น3 แปลง คือ51186, 68600, 68601 แล้วต่อมาได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 68600, 68601 และ 68714 ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ทำให้ที่ดินโจทก์กับพี่น้องถูกปิดล้อมไม่อาจออกทางหน้าบ้านได้อีกการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการผิดสัญญา โจทก์ได้รับความเดือดร้อน ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดทางเดินให้โจทก์ซึ่งปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินโฉนดเลขที่ 26568 และ 51185และพี่น้องของโจทก์อีก 2 ครอบครัวถัดไปออกทางเดียวกันกว้าง6.60 เมตร ซึ่งมีทางเลือกได้ 3 ทาง กล่าวคือทางแรกเปิดผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 57393 เป็นทางขนานรั้วข้างบ้านจำเลยที่ 3 ไปสู่ถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน หรือทางที่ 2 เปิดผ่านที่ดินจำเลยที่ 4 และที่ 5 โฉนดเลขที่ 68601 แล้วไปเชื่อมถนนคอนกรีตของจำเลยที่ 2 โฉนดเลขที่ 57410 กับ 51186 ไปสู่ถนนคอนกรีตของจำเลยที่ 1 ในหมู่บ้าน หรือทางที่ 3 เปิดผ่านที่ดินจำเลยที่ 3 โฉนดเลขที่ 57392 ไปตามริมรั้วของจำเลยที่ 3 สู่ถนนคอนกรีตของจำเลยที่ 1 ในหมู่บ้านตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7ทั้งนี้โจทก์จะเป็นผู้สร้างประตูปิดเปิดเอง หากจำเลยทั้งห้าเปิดทางให้เฉพาะโจทก์ครอบครัวเดียวแล้วก็ให้เปิดกว้าง 2.20 เมตรก็ได้ แต่ครอบครัวอื่นจะมาขอใช้ร่วมไม่ได้ จำเลยทั้งห้าต้องจ่ายเงินค่าที่ดินซึ่งบุคคลอื่นต้องเดินผ่านที่ดินโจทก์เป็นเงิน246,500 บาท และค่าเสียหายที่โจทก์ไม่มีทางออกสู่ถนนโดยปกติสุขก่อนฟ้อง 36,000 บาท และอีกเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะเปิดทางให้โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 57392ตำบลฉิมพลี (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน ขณะทำสัญญาซื้อขายจำเลยที่ 3ไม่ทราบว่ามีภาระผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1และที่ 2 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ผูกพันจำเลยที่ 4 และที่ 5 ส่วนค่าเสียหายนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเปิดทางที่ 1 ตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 7 มีความกว้าง 2.20 เมตร ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 57393 ยาวไปตามแนวรั้วบ้านของจำเลยที่ 3สู่ถนนคอนกรีตในหมู่บ้านจัดสรรโดยให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสร้างประตูรั้วปิดเปิด และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่เดือนเมษายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะเปิดทางให้โจทก์ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3ถึงที่ 5 ตลอดจนคำขออื่น ๆ ของโจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่7 กันยายน 2530 โจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26571 ตำบลฉิมพลี(บางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.6 โดยมีข้อตกลงในสัญญาข้อ 9 ว่า “ผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายใช้ทางออกได้โดยเปิดทางเป็นประตูเข้าออกกว้าง 2.2 เมตร บริเวณรั้วซึ่งกั้นระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายโดยผู้จะขายเป็นผู้สร้างประตู เปิด ปิด ตามแบบของผู้จะซื้อ และตามตำแหน่งที่ผู้จะซื้อกำหนดให้ และผู้จะขายสัญญาว่าจะไม่ให้ผู้อื่นผ่านหรือใช้ประตูเข้า-ออก หากผิดสัญญายินดีให้ผู้จะซื้อปิดทางเข้า-ออกดังกล่าวทันที” เมื่อทำหนังสือจะขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.6 แล้ว โจทก์ได้มาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินโฉนดเลขที่ 51185 และ 25668 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 26570 ด้านในส่วนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 26570 แบ่งแยกโฉนดเป็นแปลง ๆ ขายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและทำถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้านจัดสรรออกไปสู่ถนนสวนผัก ซึ่งเป็นทางสาธารณะและจัดทางออกจากบานและที่ดินของโจทก์ไปสู่ถนนสวนผักตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.17 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เปิดทางออกดังกล่าว โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ สภาพของที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยของโจทก์และที่ดินที่จำเลยที่ 1 จัดสรรและทำทางออกปรากฏตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 7 และศาลชั้นต้นได้เดินเผชิญสืบที่ดินพิพาทตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2534
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่าโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เปิดทางที่ 2 ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 68601 ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 7มีความกว้าง 6.60 เมตร ได้หรือไม่ เห็นว่า ในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า “ในสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และอีก 2 ครอบครัวกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีข้อตกลงแยกกันไว้ชัดแจ้งว่า”ผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายใช้ทางออกโดยเป็นทางเป็นประตูเข้า-ออกกว้าง 2.20 เมตร บริเวณรั้วซึ่งกั้นระหว่างที่ดินทั้งสองฝ่ายโดยผู้จะขายเป็นผู้สร้างประตูเปิดปิดตามแบบผู้จะซื้อและตามตำแหน่งที่ผู้จะซื้อกำหนดให้ และผู้จะขายสัญญาว่าจะไม่ให้ผู้อื่นผ่านหรือใช้ประตูเข้า-ออก หากผิดสัญญายินดีให้ผู้จะซื้อปิดทางเข้า-ออกดังกล่าวทันที” ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5″ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ประพฤติผิดสัญญาไม่เปิดทางเข้า-ออกให้โจทก์และพี่น้องของโจทก์ตามสัญญาและในคำขอท้ายคำฟ้องระบุว่า “ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดทางให้โจทก์และครอบครัว พี่น้องของโจทก์ 1 ใน3 ทาง ตามแต่จะเลือกเปิดเพื่อความสะดวกและเหมาะสมทางเดียวตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ทั้งนี้โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสร้างประตูเปิด-ปิดเอง หากเปิดกว้างเฉพาะของโจทก์ครอบครัวเดียวไม่รวมถึงครอบครัวอื่นก็ให้เปิดกว้าง 2.20 เมตรก็ได้ แต่ครอบครัวอื่นจะมาขอใช้ร่วมไม่ได้ ดังนั้น เมื่อในคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า “ขอให้จำเลยทั้งห้าเปิดทางให้โจทก์ 1 ทาง ใน 3 ทาง ตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7″แล้ว แสดงว่าโจทก์พอใจในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งใน 3 เส้นทางนั้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อศาลให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เปิดทางที่ 1 ให้โจทก์ซึ่งตรงตามคำขอของโจทก์แล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาอ้างว่าทางที่ 1 ไม่สะดวกเพราะเป็นทางคดหักมุมไม่สะดวกในการใช้เพราะเป็นการขัดกับคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์นั้นเอง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท แต่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เพียงเดือนละ 1,000 บาท จึงเป็นค่าเสียหายที่น้อยเกินไป และอุทธรณ์ของโจทก์ในค่าเสียหายไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพราะค่าเสียหายเป็นประเด็นเดียวกับประเด็นการขอเปิดทางพิพาทจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์แต่อย่างใด เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันเปิดทางเดินให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเป็นคำขอหลักแห่งคดีคำขอที่เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าอันเนื่องจากการไม่เปิดทางเดินให้โจทก์นั้นเป็นคำขอต่อเนื่องเมื่อคำขอหลักเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คำขอต่อเนื่องแม้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นค่าเสียหายไปเสียเลยทีเดียวและเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 1,000 บาทเหมาะสมแล้ว
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์จะให้เรียกนางจิระวรรณ ปลอดจินดา และนางสาวสุดาวรรณ โตสมบุญ ผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 57393 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2534 ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 57393 ให้คนทั้งสองเพื่อหลีกเลี่ยงการจึงควรที่จะให้โจทก์เรียกคนทั้งสองเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อผลในการบังคับคดีต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของโจทก์จึงไม่ชอบเห็นว่า ตามคำร้องของโจทก์นั้น โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่จะฟ้องหรือถูกคนทั้งสองฟ้องเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือใช้ค่าทดแทนแต่อย่างใด คงเป็นสิทธิของคนทั้งสองที่จะร้องสอดเข้ามาในคดีหากเห็นว่าตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้จึงยังไม่มีเหตุที่จะเรียกคนทั้งสองเข้ามาในคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของโจทก์นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share