คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อบริษัทเลิกกันแล้ว หน้าที่นำความไปจดทะเบียนเป็นของผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1254 แต่บริษัท น. ยังไม่มีผู้ชำระบัญชี ทั้งโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท น.ยังโต้แย้งกันอยู่ในเรื่องการชำระบัญชี กรรมการของบริษัทย่อมยังไม่เข้าเป็นผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยซึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้ชำระบัญชีได้ไปจดทะเบียนเลิกบริษัท น. เมื่อบริษัทเลิกกันแล้วแต่ยังไม่มีการชำระบัญชี จึงถือเป็นกรณีที่ผู้ชำระบัญชียังไม่ได้จัดการให้เงินหรือสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจะต้องชำระให้แก่บริษัทเป็นของผู้ถือหุ้นคนใดโจทก์ในฐานะส่วนตัวที่เป็นผู้ถือหุ้นและไม่ใช่เป็นผู้ชำระบัญชีจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ในส่วนนี้ได้ แม้โจทก์จะมีคำขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัท น.แต่เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์ไม่สมควรจะเป็นผู้ชำระบัญชี เพราะโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัท น. ต่างไม่ไว้วางใจกันและไม่อาจเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน และเป็นกรณีที่ยังไม่มีผู้ชำระบัญชีศาลก็มีอำนาจตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นคนกลางเป็นผู้ชำระบัญชีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยและนายบรรจง ตั้งภากรณ์ ได้ร่วมทุนทำการค้าโดยซื้อที่ดินจากโจทก์ เพื่อสร้างตึกแถวขายเอากำไร โดยก่อตั้งเป็นรูปบริษัท ใช้ชื่อว่าบริษัทบวรนคร จำกัด แต่จำเลยกับพวกค้างชำระค่าที่ดินให้โจทก์จำนวนมาก จึงตกลงให้โจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวจำนวน 1,000 หุ้น ในจำนวนหุ้นทั้งหมด3,500 หุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ผู้ถือหุ้นในบริษัทแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม โดยจำแนกกับพวกถือหุ้นกลุ่มแรกรวม 1,500 หุ้น นายบรรจงและพวกถือหุ้นกลุ่มสองรวม 1,000 หุ้น และโจทก์ถือหุ้นกลุ่มสามรวม1,000 หุ้น หลังจากนั้นก็ร่วมกันดำเนินงานก่อสร้างตึกแถว รายจ่ายระหว่างก่อสร้างจำเลยเบิกจ่ายเงินของบริษัทภายใต้การควบคุมดูแลของโจทก์และนายบรรจง และทำบัญชีกันไว้เป็นส่วนตัว รายรับที่ได้รับจากการรับเงินซื้อตึกแถวของลูกค้าทั้งโจทก์ จำเลย และนายบรรจงต่างคนต่างรับ แต่ส่วนใหญ่จำเลยจะรับและจดแจ้งบัญชีรายรับไว้เป็นส่วนตัว ทุก ๆ รอบเดือนทุกฝ่ายจะต้องประชุมชำระบัญชีภายในต่อกันโดยทุกฝ่ายจะทำบัญชีรายรับรายจ่ายมาคิดหักบัญชีแสดงให้ฝ่ายอื่นรับทราบ ถ้าหักทอนบัญชีแต่ละครั้งแล้ว ปรากฏว่าจำเลยมีบัญชีรายรับมากกว่ารายจ่าย จำเลยจะต้องนำหลักฐานที่แสดงว่าเบิกจ่ายเกินให้บริษัทเพื่อคืนส่วนของโจทก์เมื่อเลิกกิจการของบริษัท ต่อมานายบรรจงกับพวกขอถอนทุนคืนโดยถอนหุ้นทั้งหมด ไม่ขอกำไรและขาดทุนโจทก์จำเลยตกลงให้ถอนหุ้นคืนได้โดยเอาตึกแถวที่ยังไม่ได้ขายโอนให้5 ห้อง ตีราคารวมกัน 1,000,000 บาท หุ้นของนายบรรจงกับพวกโอนให้บริษัท แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนแก้ไข คงเหลือผู้ถือหุ้นเพียง 2 กลุ่ม คือ โจทก์กับจำเลยและแบ่งส่วนกำไรและขาดทุนเป็นของฝ่ายโจทก์ร้อยละ 40 เป็นของฝ่ายจำเลยร้อยละ 60 ต่อมาโจทก์และจำเลยประชุมชำระบัญชีภายในต่อกัน จำเลยยอมรับว่าเบิกเงินและติดค้างบริษัทรวม 3,007,865 บาท ภายหลังโจทก์จำเลยและผู้ถือหุ้นฝ่ายจำเลยประชุมตกลงกันให้จดทะเบียนแจ้งเลิกกิจการบริษัทให้สำนักงานบัญชีจัดการ จำเลยได้ส่งรายละเอียดร่างงบดุลและรายการบัญชีให้โจทก์ตรวจสอบ โจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า จำเลยต้องใช้เงินคืนแก่โจทก์ 415,662 บาท กับค่าดอกเบี้ยธนาคารอีก6,234.93 บาท มีการโต้แย้งบัญชีกัน เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ทำให้โจทก์เสียหายและไม่อาจจดทะเบียนเลิกบริษัทได้ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินคืนโจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2526 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ตรวจสอบบัญชีจนถึงวันชำระเสร็จ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 415,662 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 มกราคม 2526 จนถึงชำระเสร็จแก่โจทก์ให้เลิกบริษัทบวรนคร จำกัด โดยให้จำเลยไปร่วมกับโจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ถ้าจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้โจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีโดยถือตามบัญชีที่โจทก์ชำระเสร็จสิ้นแล้ว
จำเลยให้การว่า คณะกรรมการบริษัทบวรนคร จำกัด ได้มีมติให้เลิกบริษัทเพราะบริษัทตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการก่อสร้างตึกแถวขายแต่อย่างเดียว และเสร็จการนั้นแล้ว และมีมติตั้งสำนักงานผินการบัญชีเป็นผู้ชำระบัญชีแล้ว จำเลยมิได้เป็นหนี้บริษัทดังโจทก์อ้าง ความจริงจำเลยเป็นเจ้าหนี้บริษัท ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยเคยรับว่าเป็นหนี้บริษัท 3,007,865 บาท ไม่เป็นความจริง บันทึกดังกล่าวผิดพลาดไม่ถูกต้องหากจะฟังว่าจำเลยเป็นหนี้จริง ตัวเจ้าหนี้ก็คือบริษัท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ผู้มีอำนาจแจ้งการเลิกบริษัทคือผู้ชำระบัญชี โจทก์ไม่มีอำนาจให้ศาลสั่งให้โจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีซ้อนและไม่อาจถือว่ามีการชำระบัญชีแล้ว เพราะโจทก์มิใช่ผู้ชำระบัญชี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามคำฟ้องและคำขอที่ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ กับมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทบวรจำกัด (ที่ถูกบริษัทบวรนคร จำกัด)
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทบวรนคร จำกัด นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบและที่ศาลอุทธรณ์ฟังเป็นยุติได้ความว่า โจทก์และจำเลยร่วมกันเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทบวรนคร จำกัด ซึ่งตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อกิจการทำการก่อสร้างตึกแถวขายอย่างเดียวและกิจการที่ตั้งขึ้นเฉพาะนั้นเสร็จการแล้ว กรรมการจึงมีมติให้เลิกบริษัทเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2525 ตามเอกสารหมาย จ.9 แต่ยังมิได้ไปจดทะเบียนเลิกบริษัทและยังไม่มีผู้ชำระบัญชี คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกบริษัทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อบริษัทเลิกกันแล้วหน้าที่ที่จะต้องนำความไปจดทะเบียนนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1254 กรณีของบริษัทบวรนครจำกัด นั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังไม่มีผู้ชำระบัญชี และโจทก์จำเลยซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทต่างโต้แย้งกันในเรื่องการชำระบัญชีจึงมิใช่กรณีที่กรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 จำเลยจึงมิใช่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้ชำระบัญชี โจทก์จึงไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยปฏิบัติในสิ่งที่กฎหมายมิได้กำหนดหน้าที่ให้จำเลยทำได้ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์นั้นเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องเป็นเรื่องจำเลยเบิกเงินและติดค้างเงินที่จะต้องชำระให้บริษัท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อแบ่งกันระหว่างผู้ถือหุ้นแล้วจะตกได้แก่โจทก์ตามข้ออ้างดังกล่าวนั้น ถ้ากรณีเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่จำเลยติดค้างหนี้ที่จะต้องชำระคืนให้บริษัทบวรนคร จำกัด เมื่อบริษัทเลิกกันแต่ยังไม่มีการชำระบัญชีหนี้ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยมีอยู่จึงเป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้กับบริษัท ระหว่างการชำระบัญชียังไม่มีจึงเป็นกรณีที่ผู้ชำระบัญชียังมิได้จัดการให้เงินหรือสิทธิเรียกร้องในส่วนนี้เป็นของผู้ถือหุ้นคนใด โจทก์ในฐานะส่วนตัวที่เป็นผู้ถือหุ้นจึงยังไม่ได้รับการแบ่งปันหนี้หรือเงินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยยังติดค้างอยู่ และโจทก์เองก็มิใช่ผู้ชำระบัญชี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างว่ามีอยู่ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายในเรื่องการตั้งผู้ชำระบัญชีตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่จะได้วินิจฉัยไปพร้อมกัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากบริษัทบวรนคร จำกัด เลิกกันแล้วไม่ปรากฏว่ามีการตั้งผู้ชำระบัญชี โจทก์จำเลยซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทอยู่ก่อนก็มีเรื่องขัดใจกัน จึงไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกันและเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างไม่วางใจกันเช่นนี้ กรณีที่จะตั้งให้ฝ่ายใดเป็นผู้ชำระบัญชี จึงเป็นการไต่สมควรแก่การจัดการทรัพย์สินส่วนรวมตามหน้าที่ ถึงแม้ตามคำขอของโจทก์จะมิได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี ขอมาแต่เพียงให้โจทก์เป็นผู้ชำระบัญชี ในเมื่อศาลเห็นว่าโจทก์ไม่สมควรจะเป็นผู้ชำระบัญชีเพราะอาจจะไม่เป็นที่ไว้วางใจของอีกฝ่ายหนึ่ง และเป็นกรณีที่ยังไม่มีผู้ชำระบัญชีศาลจึงมีอำนาจที่จะตั้งผู้ชำระบัญชีได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 วรรคสอง และที่ศาลอุทธรณ์ตั้งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นคนกลางเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีนั้นเป็นการเหมาะสมแล้วฎีกาของโจทก์และจำเลยในเรื่องนี้ฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share