คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2152/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์การฟอกหนังของกระทรวงกลาโหม ไม่เป็นราชการส่วนกลางอันไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
การที่มีกฎหมายกำหนดให้พนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้นเป็นการกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับอายุของพนักงานไว้เป็นการทั่วไป ไม่เป็นการผูกพันว่าจะจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใด จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
เมื่อนายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างประจำพ้นจากตำแหน่งไปฐานะที่เป็นลูกจ้างประจำก็สิ้นสุดลง แม้นายจ้างจะมีคำสั่งจ้างใหม่อีกในทันทีไว้ในฐานะเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนก็ไม่ใช่ลูกจ้างประจำอีกต่อไปแล้ว จึงเป็นการเลิกจ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างสามีโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุแต่ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยให้การว่า เมื่อจำเลยมีคำสั่งให้สามีโจทก์พ้นจากตำแหน่งเพื่อรับบำเหน็จนั้นจำเลยก็ยังมิได้เลิกจ้างหรือให้ออกจากงาน เพราะในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้ออกคำสั่งให้สามีโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยต่อไป โดยเปลี่ยนฐานะจากการเป็นพนักงานหรือลูกจ้างประจำ เป็นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน จึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและจำเลยได้เลิกจ้างภายในกำหนดระยะเวลานั้น องค์การฟอกหนังเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นราชการส่วนกลาง จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ราชการส่วนกลางตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 1(1) ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวง ทบวง และกรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมจำเลยเป็นองค์การของรัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนังฯไม่ปรากฏบทมาตราใดในพระราชกฤษฎีกานั้นบัญญัติว่าจำเลยเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงกลาโหม วัตถุประสงค์ของจำเลยก็หาใช่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงไม่ จำเลยจึงไม่เป็นราชการส่วนกลาง

การที่พระราชบัญญัติกำหนดเกษียณอายุผู้ทำงานในองค์การของรัฐฯกำหนดให้พนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับอายุของพนักงานไว้เป็นการทั่วไป ใช่ว่าจะเป็นการตกลงกันระหว่างองค์การของรัฐบาลผู้เป็นนายจ้างกับพนักงานเป็นราย ๆ ไปว่าจะผูกพันจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็หาไม่ พนักงานจำเลยจึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นของการจ่ายค่าชดเชย

เดิมทีสามีโจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ครั้นเมื่อจำเลยมีคำสั่งให้สามีโจทก์พ้นจากตำแหน่งไป ฐานะที่เป็นลูกจ้างประจำก็สิ้นสุดลง แม้จำเลยจะมีคำสั่งจ้างใหม่อีกในทันที แต่ก็จ้างไว้ในฐานะลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนไม่ใช่ลูกจ้างประจำอีกต่อไปแล้ว การที่จำเลยมีคำสั่งให้สามีโจทก์ซึ่งทำงานมาครบกำหนดเกษียณอายุแล้วพ้นจากตำแหน่งนั้น จึงเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชย

พิพากษายืน

Share