คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำให้การพ้นกำหนดไป 1 วัน โดยอ้างเหตุหลงลืมนั้น ถือว่าเป็นการขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจ เพราะเมื่อจำเลยถูกฟ้อง จำเลยก็มีหน้าที่จดจำและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด หากยอมให้จำเลยอ้างเป็นข้อแก้ตัวได้ก็ย่อมทำให้กฎหมายที่กำหนดระยะเวลาให้จำเลยต้องปฏิบัติตามเป็นอันไร้ผล และการที่จำเลยยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดแล้ว แสดงว่าจำเลยไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การก็ไม่ได้อีก เพราะถ้าถือเช่นนั้น ก็จะบังเกิดผลว่าจำเลยยื่นคำให้การเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดขอให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ไม่ยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึง ๕ ยื่นคำให้การแต่พ้นกำหนดไป ๑ วัน ศาลแพ่งสั่งไม่รับคำให้การ จำเลยที่ ๒ ถึง ๕ ยื่นคำร้องว่าจำวันรับหมายผิดพลาดขอให้รับ ศาลแพ่งสอบแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้องและสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แล้วสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว พิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยยื่นคำให้การไว้ เป็นพฤติการณ์ที่ส่อแสดงว่าจำเลยจงใจต่อสู้คดี มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รับคำให้การจำเลยแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยรับหมายเรียกวันที่ ๗ มีนาคม แล้วยื่นคำให้การในวันที่ ๑๖ มีนาคม ก็ได้ชื่อว่าจำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด ๘ วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๗ เหตุที่จำเลยบอกทนายว่าจำเลยรับหมายเรียกวันที่ ๘ มีนาคม จึงเป็นการบอกผิด เมื่อจำเลยถูกฟ้อง จำเลยก็มีหน้าที่จดจำและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด หากยอมให้จำเลยอ้างเอาความหลงลืมมาเป็นข้อแก้ตัวได้ ก็ย่อมทำให้กฎหมายที่กำหนดระยะเวลาให้จำเลยต้องปฏิบัติเป็นอันไร้ผล เพราะจำเลยอาจกล่าวอ้างความหลงลืมมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ฉะนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ถ้าจำเลยหลงลืมก็เป็นความผิดของจำเลยเอง จะอ้างมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้ และจะถือว่าเมื่อจำเลยได้ยื่นคำให้การแล้วก็แสดงว่าจำเลยไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การก็ไม่ได้ เพราะถ้าถือเช่นนั้น ก็ย่อมบังเกิดผลว่าจำเลยยื่นคำให้การเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ ข้ออ้างของจำเลยไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๙๙ ที่จะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๗๗ ได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไป

Share