แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นทบวงการเมืองได้สั่งซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศมาขายให้จำเลยในราคาถูกกว่าท้องตลาดโดยมิได้มุ่งหากำไรแต่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มผลผลิตในการทำนาโจทก์จึงมิใช่พ่อค้าหรือบุคคลจำพวกประกอบศิลปอุตสาหกรรมและประกอบการค้าเพื่อหากำไรตามปกติเมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าซื้อปุ๋ยจากจำเลยกรณีจึงไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความตามป.พ.พ.มาตรา165(1)และวรรคท้ายแต่อยู่ในบังคับของมาตรา164.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าปุ๋ยจำเลยที่ 1 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ที่ 3ให้การปฏิเสธความรับผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นบุคคลจำพวกประกอบศิลปอุตสาหกรรม โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 2 ปี และ 5 ปีคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) และวรรคท้าย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่เป็นพ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) และวรรคท้ายสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยที่ 1 ฎีกากว้าง ๆ ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคแรก(น่าจะเป็น (1)) และวรรคสุดท้าย อันพออนุโลมได้ว่าจำเลยฎีกาว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมและพ่อค้า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่ากรุงเทพมหานคร โจทก์เป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 โจทก์ไม่ได้ผลิตปุ๋ยเพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป แต่โจทก์เป็นผู้สั่งซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการขายตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มผลผลิตในการทำนา และขายในราคาถูกกว่าท้องตลาดไม่ได้คิดกำไร ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังจะกล่าวต่อไปนี้มีกำหนดอายุความสองปีคือ (1) บุคคลผู้เป็นพ่อค้าผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้เป็นช่างฝีมือและบุคคลจำพวกประกอบศิลปอุตสาหกรรมเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของ ฯลฯ”และวรรคสุดท้ายบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องเช่นระบุไว้ในวรรค 1อนุมาตรา (1) (2) และ 1(5) นั้นอย่างใดไม่เข้าอยู่ในบังคับอายุความสองปี ท่านให้มีกำหนดอายุความห้าปี” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพ.ศ. 2525 อธิบายความหมายของ “ศิลป” ว่า “ฝีมือ ฝีมือทางการช่างฯลฯ” และ “อุตสาหกรรม” หมายถึง “การทำสิ่งของเพื่อให้เกิดผลประโยชน์เป็นกำไร” ดังนั้น คำว่า “ศิลปอุตสาหกรรม” จึงหมายถึงการทำสิ่งของด้วยฝีมือทางการช่างเพื่อให้เกิดผลกำไร กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการประดิษฐ์หรือผลิตหรือทำสิ่งของด้วยฝีมือทางการช่างให้เป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายหากำไร เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นทบวงการเมืองและสั่งซื้อปุ๋ยจากต่างประเทศมาขายให้จำเลยที่ 1 ในราคาถูกกว่าท้องตลาดโดยมิได้มุ่งหากำไร เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มผลผลิตในการทำนา โจทก์จึงมิใช่บุคคลจำพวกประกอบศิลปอุตสาหกรรมตามบทกฎหมายดังกล่าว และมิใช่ประกอบการค้าโดยซื้อสินค้ามาแล้วขายไปเพื่อหากำไรตามปกติ จึงมิใช่พ่อค้าและกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในผล…”.