คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676-2687/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การนับระยะเวลาการทำงานเพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างนั้น หมายถึงการนับระยะเวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงาน มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ใช้บังคับ

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสิบสองสำนวน จำเลยอุทธรณ์ทั้งสิบสองสำนวนต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ฉะนั้นการนับอายุการทำงานของโจทก์ต้องนับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 จึงมีอายุการทำงานไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพียง 90 วัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้าง ดังนี้ (1) ลูกจ้างประจำซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน (2) ลูกจ้างประจำซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน (3) ลูกจ้างประจำซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน การนับระยะเวลาการทำงานดังกล่าวหมายถึงการนับระยะเวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงาน มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานใช้บังคับดังที่จำเลยอุทธรณ์”

พิพากษายืน

Share