คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2672/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในส่วนของจำเลยที่ 7 ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 5 ขับรถยนต์กระบะออกจากขนำที่เกิดเหตุไปโดยบอกว่าจะไปรับพวกอีกคนหนึ่ง แล้วจำเลยที่ 5 ขับรถยนต์กระบะกลับมาพร้อมจำเลยที่ 7 เมื่อมาถึงขนำที่เกิดเหตุ ในขณะที่จำเลยที่ 7 ยืนปัสสาวะอยู่ จำเลยที่ 4 และที่ 6 ซึ่งกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เสร็จแล้วได้ออกมาจากขนำ โดยผู้เสียหายที่ 1 เดินตามออกมาด้วย จำเลยที่ 7 จับมือผู้เสียหายที่ 1 พร้อมถามว่าจะไปไหน ผู้เสียหายที 1 ตอบว่าขอไปปัสสาวะ จำเลยที่ 7 ไม่เชื่อดึงมือผู้เสียหายที่ 1 ไว้อีก ผู้เสียหายที่ 1 สะบัดหลุดวิ่งหนีเข้าไปในป่า จำเลยที่ 7 กับพวกติดตามไม่พบ เนื่องจากผู้เสียหายซ่อนตัวอยู่นั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7 มีส่วนร่วมคบคิดหรือนัดแนะกับจำเลยอื่นในการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารมาแต่ต้น การที่จำเลยที่ 7 มายังขนำที่เกิดเหตุและกระทำการดังกล่าวหลังจากที่จำเลยอื่นได้พาผู้เสียหายที่ 1 มากระทำชำเราแล้ว ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 7 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยอื่นพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277 วรรคสาม, 317 วรรคสาม และนับโทษจำคุกจำเลยที่ 6 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1670/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 6 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 ขณะกระทำผิดมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กเพื่อการอนาจาร จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 คนละ 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 ปี ฐานสนับสนุนการกระทำผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จำคุกจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ตลอดชีวิต รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 18 ปี จำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี 4 เดือน 40 วัน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 14 ปี สำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกฐานอื่นมารวมได้คงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว และจำคุกจำเลยที่ 7 มีกำหนด 10 ปี นับโทษจำเลยที่ 6 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1670/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 จากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งเจ็ด โดยมีรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน แม้ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะไม่เคยเห็นหน้าจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 มาก่อน อีกทั้งเหตุเกิดในเวลากลางคืน แต่ผู้เสียหายที่ 1 เห็นจำเลยที่ 5 ตั้งแต่จำเลยที่ 5 กับพวกอีก 4 คน ไปคุยกับผู้เสียหายที่ 2 ที่บ้าน จำเลยที่ 5 กับพวก ยังออกไปซื้อขนมมารับประทานที่บ้านอีก ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูกบังคับให้นั่งรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านไปยังเห็นจำเลยที่ 5 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับอยู่ด้านข้าง จำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันดึงผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปบนขนำแล้วพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้เสียหายที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 ร่วมประเวณี จำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยอื่นมัดผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ทำอะไรผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 5 กับพวกพาผู้เสียหายที่ 1 ไปบ้านอีกหลังหนึ่งแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 5 พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ขนำที่ผู้เสียหายที่ 2 อยู่กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 ยังร่วมกับพวกพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ขนำอีกแห่งหนึ่งให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 ผลัดกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยจำเลยที่ 5 ไปรับจำเลยที่ 7 มาที่ขนำดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 4 ผู้เสียหายที่ 1 เห็นตั้งแต่มากับจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 4 ร่วมนำตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปขนำหลังสุดท้าย จำเลยที่ 4 เป็นผู้ดึงมือผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปบนบ้าน ขณะที่จำเลยที่ 6 กระทำชำเรานานประมาณ 15 นาที จำเลยที่ 4 เป็นผู้จับมือผู้เสียหายที่ 1 กดไว้กับพื้นแล้วจำเลยที่ 4 กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 นานประมาณ 10 นาที เมื่อจำเลยที่ 5 กลับมาพร้อมจำเลยที่ 7 จำเลยที่ 4 และที่ 6 ออกจากขนำ ผู้เสียหายที่ 1 เดินตามทั้งที่ยังมิได้สวมกางเกง ส่วนจำเลยที่ 7 นอกจากผู้เสียหายที่ 1 จะเห็นมากับจำเลยที่ 5 แล้วยังเห็นจำเลยที่ 7 ยืนปัสสาวะจนเสร็จเพียงแต่ยังมิได้รูดซิปกางเกง จำเลยที่ 7 ดึงผู้เสียหายที่ 1 ไว้พร้อมถามว่าจะไปไหน ผู้เสียหายที่ 1 ตอบว่าจะไปปัสสาวะ จำเลยที่ 7 ไม่เชื่อดึงผู้เสียหายที่ 1 ไว้อีก เมื่อผู้เสียหายที่ 1 สะบัดหลุดวิ่งหนีเข้าไปในป่า จำเลยที่ 7 กับพวกตามหา จากข้อเท็จจริงดังกล่าวผู้เสียหายที่ 1 ย่อมเห็นจำเลยที่ 4 และที่ 5 หลายครั้ง แต่ละครั้งเป็นเวลานานพอสมควร ส่วนจำเลยที่ 7 แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะเห็นเพียงครั้งเดียว แต่ก็เห็นในระยะใกล้ชิดทั้งยังมีการถามตอบกัน ถึงแม้ว่าเหตุจะเกิดในเวลากลางคืน ถ้าสถานที่แต่ละแห่งมืดจนไม่สามารถมองเห็นกันได้ พวกจำเลยทั้งเจ็ดย่อมไม่สามารถกระทำการต่าง ๆ ได้ อีกทั้งเมื่อมีการใช้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์กระบะเป็นยานพาหนะย่อมมีแสงสว่างจากรถดังกล่าวด้วย การที่ผู้เสียหายที่ 1 สามารถพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 3 ขณะอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่ขนำได้ทันทีย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เห็นและจำขนำนั้นได้ ถึงแม้ว่าคืนเกิดเหตุจะมีฝนแต่ฝนก็ตกในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 หลบหนี มิใช่ในขณะที่พวกจำเลยกระทำความผิด นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกคุณากร พนักงานสอบสวนมาเบิกความว่า จากการสอบถามผู้เสียหายทั้งสองและจำเลยที่ 3 ถึงเหตุการณ์และคนร้ายที่เหลือจึงออกจับกุมคนร้ายอีกครั้งโดยให้ดาบตำรวจไมตรี กับพวก ไปจับกุมโดยมีผู้เสียหายที่ 1 ไปด้วย การรู้ตัวคนร้ายที่เหลือในคืนนั้นต้องทราบจากผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยที่ 3 ด้วย สำหรับดาบตำรวจไมตรีผู้จับกุมพวกจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่นาน 32 ปี รู้จักบุคคลและกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ วัยรุ่นบางคนยังจำชื่อบิดาได้ด้วย ย่อมทราบดีว่าพวกจำเลยแต่ละคนมีบ้านอยู่ที่ใด จึงสามารถติดตามจับจำเลยที่ 4 ได้ในคืนเกิดเหตุและในคืนนั้นยังไปที่บ้านของจำเลยที่ 7 แต่ไม่พบจำเลยที่ 7 ที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 นำสืบอ้างฐานที่อยู่ในคืนเกิดเหตุ พยานก็มีเพียงจำเลยดังกล่าวและบุคคลที่เป็นญาติหรือบุคคลที่ใกล้ชิดเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 และที่ 5 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจำเลยที่ 7 ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 5 ขับรถยนต์กระบะออกจากขนำที่เกิดเหตุไปโดยบอกว่าจะไปรับพวกอีกคนหนึ่ง แล้วจำเลยที่ 5 ขับรถยนต์กระบะกลับมายังขนำที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 7 เมื่อมาถึงขนำที่เกิดเหตุ ในขณะที่จำเลยที่ 7 ยืนปัสสาวะอยู่ จำเลยที่ 4 และที่ 6 ซึ่งกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แล้วได้ออกมาจากขนำ โดยผู้เสียหายที่ 1 เดินตามออกมาด้วย จำเลยที่ 7 จับมือผู้เสียหายที่ 1 พร้อมถามว่าจะไปไหน ผู้เสียหายที่ 1 ตอบว่าขอไปปัสสาวะ จำเลยที่ 7 ไม่เชื่อดึงมือผู้เสียหายที่ 1 ไว้อีก ผู้เสียหายที่ 1 สะบัดหลุดวิ่งหนีเข้าไปในป่า จำเลยที่ 7 กับพวกติดตามไม่พบ เนื่องจากผู้เสียหายซ่อนตัวอยู่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 7 มีส่วนร่วมคบคิดหรือนัดแนะกับจำเลยอื่นในการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารมาแต่ต้น การที่จำเลยที่ 7 มายังขนำที่เกิดเหตุและกระทำการดังกล่าวหลังจากที่จำเลยอื่นได้พาผู้เสียหายที่ 1 มากระทำชำเราแล้ว ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 7 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยอื่นพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 7 ในความผิดฐานนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 7 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share