คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างป่วยมีอาการคล้ายโรคอัมพาต ลุกเดินนั่งและหยิบจับสิ่งของไม่สะดวกมาประมาณ 2 ปีและไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำได้ ถือได้ว่าลูกจ้างหย่อนความสามารถ แม้นายจ้างจะมีสิทธิตามสัญญาและตามระเบียบข้อบังคับที่จะถอดถอนลูกจ้างออกจากตำแหน่งได้แต่การที่นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างออกจากตำแหน่งในกรณีนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 47(3) นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
กรณีดังกล่าว การที่นายจ้างให้โอกาสแก่ลูกจ้างที่จะพักรักษาตัว ได้ และลูกจ้างได้ลาพักรักษาตัวเป็นเวลาถึง2 ปี ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างประสงค์ให้ลูกจ้างหายเป็นปกติเพื่อจะได้ทำงานต่อไป มิใช่เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 45 มิได้มีเงื่อนไขกำหนดให้ลูกจ้างต้องแจ้งความจำนงขอหยุดพักผ่อนประจำปีก่อนแต่อย่างใดเมื่อลูกจ้างยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างประจำโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ก่อนเลิกจ้างจำเลยได้ให้โอกาสโจทก์ลาพักรักษาตัวเป็นเวลา 2 ปี หากโจทก์มีอาการไม่ดีขึ้น จำเลยจะเลิกสัญญาถือได้ว่าโจทก์ทราบถึงการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วว่าจำเลยจะเลิกจ้าง และโจทก์มิได้ยื่นความจำนงขอลาหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างที่มิได้หยุดพักผ่อนประจำปี

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่าค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ป่วย มีสุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ มีอาการคล้ายโรคอัมพาต ลุกเดินนั่งและหยิบจับสิ่งของไม่สะดวกมาประมาณ 2 ปี และไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำได้นั้น แม้ถือได้ว่าโจทก์หย่อนความสามารถจำเลยมีสิทธิถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งตามสัญญาลงวันที่ 6 มิถุนายน 2504 ข้อ 4 ที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยและเป็นกรณีพนักงานเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่การงานของตนได้โดยสม่ำเสมอ อันจำเลยมีอำนาจให้โจทก์ออกจากงานได้ตามข้อ 6.1 แห่งระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 121 ว่าด้วยการแต่งตั้งและการถอนจากตำแหน่งพนักงานธนาคารออมสิน ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2517 ก็ตาม แต่การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากตำแหน่งในกรณีนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 47(3) เพราะเป็นเรื่องโจทก์เจ็บป่วย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ว่า ก่อนจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยได้ให้โอกาสแก่โจทก์ที่จะลาพักรักษาตัวให้หายเป็นปกติ และโจทก์ได้ยื่นความจำนงที่จะลาพักรักษาตัวเป็นเวลาถึง 2 ปี ถือได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ก่อนเลิกจ้างแล้วจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เห็นว่า การที่จำเลยให้โอกาสแก่โจทก์ที่จะลาพักรักษาตัวได้ เป็นเรื่องประสงค์ให้โจทก์หายเป็นปกติเพื่อจะได้ทำงานต่อไป มิใช่เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยเลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้จ่ายเงินเดือนเต็มแก่โจทก์ทุกเดือนซึ่งรวมถึงค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วยแล้ว ทั้งโจทก์ไม่ได้ยื่นความจำนงต่อจำเลยที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เห็นว่า เมื่อโจทก์ยังมิได้หยุดพักผ่อนประจำปี เงินเดือนที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ตามปกติจึงหาได้รวมค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแล้วไม่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 45 กำหนดว่า “ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วย”มิได้มีเงื่อนไขกำหนดให้ลูกจ้างต้องแจ้งความจำนงขอหยุดพักผ่อนประจำปีก่อนแต่อย่างใด เมื่อได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว และโจทก์ยังมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งยังมิได้ใช้จำนวน 20 วัน จำเลยก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวแก่โจทก์

พิพากษายืน

Share