คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2669/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณาจาก การบรรยายฟ้องเป็นสำคัญ เมื่อคำฟ้องเป็นที่พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาและที่ขอบังคับจำเลยตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2540 ข้อ 6 แล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเอกสารที่ต้องแนบมาท้ายคำฟ้องตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 7 นั้น ก็เพื่อจะให้จำเลยได้รู้ว่ามีเอกสารใดที่เกี่ยวข้องตามคำฟ้องบ้างในเบื้องต้น อันจะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยความสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น แม้เอกสารดังกล่าวเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงแต่ในชั้นพิจารณาจะต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46
เมื่อโจทก์และจำเลยทำสัญญาการให้สินเชื่อแล้ว มีหน้าที่ปฏิบัติต่อกันตามสัญญา หากจำเลยปฏิบัติผิดข้อกำหนดใดย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทำให้มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระเงินคืนได้ การที่จำเลยปฏิบัติผิดข้อกำหนดตามสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินกู้คืน เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายโดยชอบ แม้โจทก์จะรู้ว่าอยู่ในระหว่างที่จำเลยกำลังเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่นก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต
ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยชำระหนี้ด้วยเงินตราต่างประเทศคือเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษากำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินใน วันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ นอกจากจะไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง แล้วยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ โดยกำหนดการคิดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ไต้หวัน สาธารณรัฐสิงคโปร์และไต้หวัน ตามลำดับ ส่วนโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 7 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น โดยโจทก์ทั้งเจ็ดต่างประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ซึ่งรวมทั้งรับฝากและให้กู้ยืมเงิน จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศไทยประกอบกิจการสั่งสินค้าเข้าจากต่างประเทศ ผลิต ขาย จำหน่าย ส่งออก ซ่อมแซม แก้ไข ติดตั้งและให้บริการอันเกี่ยวเนื่องกับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการสื่อสารโทรคมนาคมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทุกประเภท เมื่อวันที่ 26ตุลาคม 2538 จำเลยได้ตกลงทำสัญญาการให้สินเชื่อกับโจทก์ทั้งเจ็ดและธนาคารผู้มีชื่ออีก 5 ราย ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 40,000,000 ดอลลาร์สหรัฐโดยโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตกลงให้จำเลยกู้เงินแต่ละรายในวงเงินรายละ3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 4 ตกลงให้จำเลยกู้ในวงเงิน 2,500,000ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 5 ตกลงให้จำเลยกู้ในวงเงิน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ที่ 6 ตกลงให้จำเลยกู้ในวงเงิน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ที่ 7ตกลงให้จำเลยกู้ในวงเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ สัญญาการให้สินเชื่อดังกล่าวมีบริษัทโซซิเยเต้ เจเนอราล เอเซีย จำกัด (Societe Generale AsiaLimited) เป็นผู้จัดการสินเชื่อ (Agent) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของธนาคารโจทก์ผู้ให้กู้ทั้งหมดในการประสานงานติดต่อส่งข้อมูลส่งคำบอกกล่าวระหว่างคู่สัญญาทั้งหมด รวมถึงการแจ้งอัตราดอกเบี้ยและจำนวนดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นให้โจทก์และ/หรือจำเลยทราบ และการส่งคำบอกกล่าวแก่จำเลยว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาการให้สินเชื่อ การแจ้งแก่จำเลยให้หนี้เงินกู้ทั้งปวงถึงกำหนดชำระให้แก่โจทก์ และรวมถึงการกระทำใด ๆ ตามคำสั่งของผู้ให้กู้ด้วยหลังจากทำสัญญาการให้สินเชื่อดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ขอเบิกเงินกู้จากโจทก์ทั้งเจ็ดและธนาคารผู้มีชื่ออีก 5 ราย แต่ละรายและทุกรายต่างได้ส่งมอบเงินกู้ตามสัดส่วนของตนให้จำเลยแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2538 รวม 40,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาหลายประการกล่าวคือ จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายค่าดำเนินการทางกฎหมายจำนวนประมาณ 14,000ดอลลาร์สหรัฐ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินการ การจัดการและการบังคับการตามสัญญาซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องชดใช้จ่ายนั้นให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด และธนาคารผู้มีชื่ออีก 5 ราย นั้นด้วย ผู้จัดการสินเชื่อได้แจ้งเตือนให้จำเลยชำระเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้วแต่จำเลยไม่ยอมชำระให้ และจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาสินเชื่อดังกล่าวโดยสัญญาข้อ 18.2(5) ซึ่งกำหนดว่า หากจำเลยจะขายทรัพย์สินของจำเลยที่มีมูลค่าตามบัญชีร้อยละ 10 ขึ้นไป จำเลยจะต้องขอความยินยอมจากกลุ่มธนาคารผู้ให้กู้ร่วมกันเกินกว่าร้อยละ 66.67 ของจำนวนเงินกู้ตามสัญญาขึ้นไปเสียก่อน แต่เมื่อประมาณปลายปี 2540จำเลยขายหุ้นของบริษัทเอเซีย บรอดคาสติ้ง แอนด์ คอมมูนิเคชั่น เน็ทเวอร์คจำกัด (เอบีซีเอ็น) ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ประมาณร้อยละ 20 ไปทั้งหมดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากกลุ่มธนาคารผู้ให้กู้ นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 17.1ซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะดำรงสถานะทางการเงินของจำเลยรวมทั้งกลุ่มบริษัทของจำเลยรวมกันเพื่อให้อัตราส่วนหนี้ไม่เกิน 3 เท่าของทุนของทั้งกลุ่มบริษัทของจำเลย แต่ตามงบการเงินรวมของกลุ่มบริษัทของจำเลยประจำปี 2540ได้มีการก่อหนี้สินขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อรวมกับหนี้สินเดิมอื่น ๆ ของจำเลยและกลุ่มบริษัทของจำเลยแล้วทำให้อัตราส่วนหนี้ของจำเลยและกลุ่มบริษัทของจำเลยรวมกันเกินกว่า 3 เท่าของทุนของจำเลยและกลุ่มบริษัทของจำเลยอันเป็นการกระทำที่ผิดไปจากสัญญาดังกล่าว และตามสัญญาข้อ 19 จำเลยสัญญาว่าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ใด ๆ เมื่อถึงกำหนดชำระหรือหากจำเลยถูกเรียกให้ชำระหนี้ใด ๆ คืนเจ้าหนี้ก่อนที่หนี้รายนั้นจะถึงกำหนดชำระตามสัญญา ให้ถือว่าเป็นเหตุผิดตามสัญญาด้วย ซึ่งปรากฏว่าเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2541 จำเลยถูกธนาคารบีเอซเอฟ บังค์ อาคทิงเกเซลซาฟท์ จำกัดเจ้าหนี้ผู้ให้กู้รายหนึ่งของจำเลยเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้คืนเนื่องจากการกระทำผิดสัญญากู้ที่มีอยู่ต่อกันเป็นเงินจำนวนประมาณ 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐแต่จำเลยก็ไม่ยอมชำระให้ และธนาคารเจ้าหนี้ดังกล่าวได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว เหตุดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุผิดนัดและผิดสัญญาการให้สินเชื่อ เนื่องจากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาหลายประการดังกล่าว และไม่ยอมจัดการแก้ไขให้ถูกต้องตามสัญญาที่มีต่อกัน ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทั้งเจ็ดและธนาคารผู้มีชื่ออีก 5 ราย ได้ขอให้จำเลยจัดการแก้ไขให้ถูกต้องตามสัญญาแล้วก็ตาม ในที่สุดกลุ่มธนาคารผู้ให้กู้รวมทั้งโจทก์ทั้งเจ็ดจึงได้มีคำสั่งขอให้ผู้จัดการสินเชื่อมีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาและให้หนี้เงินกู้ทั้งหมดได้แก่ ต้นเงิน ดอกเบี้ยค้างชำระและหนี้สินอื่นจำนวนใด ๆ ที่เกิดขึ้นตามสัญญาการให้สินเชื่อถึงกำหนดชำระโดยพลัน ผู้จัดการสินเชื่อจึงได้ออกหนังสือแจ้งจำเลยว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาและให้เงินกู้ถึงกำหนดชำระโดยพลันตามที่กลุ่มธนาคารผู้ให้กู้ร้องขอซึ่งจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวโดยชอบแล้วแต่ยังเพิกเฉยไม่ชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดคืนให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดและธนาคารผู้มีชื่ออีก 5 ราย กลุ่มธนาคารผู้ให้กู้จึงขอให้ผู้จัดการสินเชื่อออกหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดคืนอีกครั้งหนึ่งแต่หลังจากที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวแล้วจำเลยชำระเพียงดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด และธนาคารผู้มีชื่ออีก5 ราย บางส่วนเท่านั้น คิดถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระเงินกู้และดอกเบี้ยรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามสัญญาการให้สินเชื่อต่อโจทก์ทั้งเจ็ดดังนี้ ในส่วนของโจทก์ที่ 1 จำเลยค้างชำระต้นเงินกู้เป็นจำนวน 3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐและค้างชำระดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 58,605.60 ดอลลาร์สหรัฐในส่วนของโจทก์ที่ 2 จำเลยค้างชำระต้นเงินกู้เป็นเงินจำนวน 3,500,000ดอลลาร์สหรัฐ และค้างชำระดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 58,605.60ดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของโจทก์ที่ 3 จำเลยค้างชำระต้นเงินกู้เป็นเงินจำนวน3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค้างชำระดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน58,605.60 ดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของโจทก์ที่ 4 จำเลยค้างชำระต้นเงินกู้เป็นเงินจำนวน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค้างชำระดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 41,861.13 ดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของโจทก์ที่ 5จำเลยค้างชำระต้นเงินกู้เป็นเงินจำนวน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค้างชำระดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 83,722.26 ดอลลาร์สหรัฐในส่วนของโจทก์ที่ 6 จำเลยค้างชำระต้นเงินกู้เป็นเงินจำนวน 4,000,000ดอลลาร์สหรัฐ และค้างชำระดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 79,848.38 ดอลลาร์สหรัฐ และในส่วนของโจทก์ที่ 7 จำเลยค้างชำระต้นเงินกู้เป็นจำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค้างชำระดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 42,661.07 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนเป็นเงินคนละ 3,558,605.60 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 3,500,000ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 2,541,861.13ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 4 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 5,083,722.26ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 5 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 4,079,848.38ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้โจทก์ที่ 6 และให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 7 จำนวน 2,042,661.07ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดให้โจทก์ที่ 7

จำเลยให้การว่า บรรดาเอกสารการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีและการรับรองลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไม่ได้รับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้รู้เห็นหรือผู้อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้รับรองได้ จึงเป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้แปลเอกสารการกู้เงินและหนังสือประกอบต่าง ๆ เป็นภาษาไทย ขอศาลสั่งให้โจทก์แปลเป็นภาษาไทยเพื่อจำเลยจะสามารถเข้าใจคำฟ้องและสภาพข้อหาได้ โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะโจทก์ทราบว่าจำเลยกำลังร่วมกับเจ้าหนี้ทั้งหลายทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการลดค่าเงินบาทและภาวะเศรษฐกิจผันผวน จำเลยชำระดอกเบี้ยถูกต้องครบถ้วนและสม่ำเสมอมาโดยตลอด พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตประสงค์จะกรรโชกทรัพย์ทางการเงิน (Greenmailing) จากจำเลย และ/หรือเจ้าหนี้อื่น ๆ ซึ่งอาจต้องยอมหรือยินยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยโจทก์ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบในการผ่อนปรนในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังเช่นเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงขัดต่อกฎหมาย เพราะนอกจากเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแล้วยังมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลในการขัดขวางการฟื้นฟูธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ย ไม่ได้ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนเพราะโจทก์สามารถเรียกเบี้ยปรับการผิดนัดชำระดอกเบี้ยได้ตามข้อกำหนดในสัญญาอยู่แล้วโจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการเรียกดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ที่ 7 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 คนละจำนวน 3,558,384.16 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน2,541,702.96 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน5,082,059.83 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 5,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและชำระเงินแก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 4,078,517.31 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.49938 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ณ สิ้นวันทำการ ในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เนื่องจากโจทก์ 5 รายนี้ได้โอนหนี้ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้แก่บุคคลภายนอก และแจ้งการโอนแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอนุญาต คดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กับจำเลยจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 4 เท่านั้น

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า ตามคำฟ้องมีเอกสารที่แนบท้ายคำฟ้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษแต่โจทก์จัดทำคำแปลไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะสัญญาการให้สินเชื่อที่เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้คดีนี้จึงทำให้จำเลยไม่อาจตรวจสอบและโต้แย้งไว้ในคำให้การได้ถูกต้อง และการที่จะให้โจทก์ที่ 4 ส่งคำแปลที่สมบูรณ์ภายหลังจากครบกำหนดเวลาที่จำเลยต้องยื่นคำให้การแล้ว ก็ทำให้จำเลยไม่สามารถให้การโต้แย้งข้อสัญญาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุมเพราะทำให้จำเลยไม่เข้าใจสภาพแห่งข้อหา เสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 บัญญัติให้การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดของอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานที่ออกข้อกำหนดไว้ตามมาตรา 30 หากไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม และตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 6 กำหนดว่าคำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่เข้าใจคำฟ้องในส่วนใด ศาลอาจสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยอธิบายรายละเอียดในส่วนนั้นให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ และจำเลยมีสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในส่วนคำฟ้องที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการบรรยายฟ้องเป็นสำคัญเมื่อคำฟ้องในคดีนี้บรรยายถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ 4 กับจำเลยตามสัญญาการให้สินเชื่อ การปฏิบัติผิดสัญญาในแต่ละข้ออย่างไรบ้าง ตลอดถึงความรับผิดของจำเลยที่มีต่อโจทก์ และคำขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 4 ไว้โดยละเอียดแล้ว ย่อมเป็นที่พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาและที่ขอบังคับจำเลยตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540ข้อ 6 แล้ว จึงถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเอกสารที่แนบท้ายคำฟ้องตามที่จำเลยอุทธรณ์เป็นเพียงพยานหลักฐานที่โจทก์จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาตามประเด็นในคำฟ้องซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่ง เพียงแต่มีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 7 กำหนดไว้ว่า “หากคำฟ้องหรือคำให้การอ้างถึงเอกสารใดที่คู่ความประสงค์จะนำมาเป็นพยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี และเอกสารนั้นอยู่ในครอบครองของผู้อ้างให้แนบเอกสารดังกล่าวมาพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การด้วย” ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ให้คู่ความแต่ละฝ่ายได้รู้ว่ามีเอกสารใดที่เกี่ยวข้องตามคำฟ้องและคำให้การบ้างในเบื้องต้นอันจะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยความสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น แต่ในชั้นพิจารณาเอกสารดังกล่าวจะต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 เว้นแต่จะเป็นไปตามข้อ 23 แห่งข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าเอกสารแนบท้ายฟ้องเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งโจทก์สามารถทำคำแปลเสนอภายหลังในชั้นพิจารณาได้คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายนั้น ชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 4 ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือไม่นั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้แก้ไขเหตุที่โจทก์ที่ 4อ้างว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาแล้ว โดยจำเลยได้ยกเลิกการขายทรัพย์สินคือหุ้นของบริษัทเอเซีย บรอดคาสติ้ง แอนด์ คอมมูนิเคชั่น เน็ทเวอร์ค จำกัด แล้ว และกรณีที่จำเลยถูกธนาคารบีเอชเอฟ บังค์ อาคทิงเกเซลซาฟท์ จำกัดฟ้องให้ชำระหนี้ ก็ปรากฏว่าปัจจุบันธนาคารดังกล่าวได้ถอนฟ้องแล้ว ทั้งกรณีที่จำเลยมีหนี้สินเกิน 3 เท่า ของทุนของจำเลยและกลุ่มบริษัทจำเลยก็ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลย หากแต่เป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากรัฐบาลไทยประกาศลดค่าเงินบาทนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นให้การปฏิเสธไว้อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 4ฟ้องคดีนี้ทั้งที่รู้ว่าจำเลยกำลังเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 4 และจำเลยได้ทำสัญญาการให้สินเชื่อกันแล้ว ทั้งโจทก์ที่ 4 และจำเลยต่างย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติต่อกันตามข้อกำหนดในสัญญาหากจำเลยปฏิบัติผิดข้อกำหนดใดก็ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ที่ 4ทำให้โจทก์ที่ 4 มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินคืนได้ การที่โจทก์ที่ 4กล่าวอ้างว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากจำเลยไม่ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อบังคับให้เป็นไปตามสัญญา จำเลยขายหุ้นบริษัทเอเซียบรอดคาสติ้ง แอนด์ คอมมูนิเคชั่น เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของ อันเป็นการขายทรัพย์สินมีมูลค่าทางบัญชีเกินร้อยละ 10 ขึ้นไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 4 และผู้ให้กู้อื่น จำเลยถูกธนาคารบีเอชเอฟ บังค์ อาคทิงเกเซลซาฟท์ จำกัด ฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้และจำเลยกับบริษัทในกลุ่มของจำเลยก่อหนี้รวมกันเกินกว่า 3 เท่าของทุนของจำเลย อันเป็นการปฏิบัติผิดจากข้อกำหนดตามที่ตกลงทำสัญญากันไว้แล้วโจทก์ที่ 4 จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้คืนซึ่งก็เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายโดยชอบ และเมื่อโจทก์ที่ 4 มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ได้แล้ว แม้ขณะที่ฟ้องโจทก์ที่ 4 จะรู้ว่าอยู่ในระหว่างที่จำเลยกำลังเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่นดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ที่ 4 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต เพราะจำเลยก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อโจทก์ที่ 4 ตามกฎหมายเช่นกัน และลำพังการที่จำเลยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่นก็มิใช่เหตุจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของโจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าโจทก์ที่ 4 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่าตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการ ในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษานั้น เนื่องจากในการชำระหนี้ซึ่งกำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 196 กำหนดให้ใช้เงินเป็นเงินของประเทศไทยได้ โดยการเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางส่วนนี้จึงเกินคำขอ ซึ่งหากต่อมาค่าเงินบาทแข็งขึ้นกว่าในวันที่มีคำพิพากษาก็จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องจ่ายเงินเกินกว่าหนี้ที่มีอยู่จริง ปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้” นั้น เป็นการให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่กำหนดกันไว้เป็นเงินตราต่างประเทศด้วยเงินไทยก็ได้และเพื่อจะไม่ให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องได้เปรียบเสียเปรียบกันในอัตราแลกเปลี่ยนเงินในกรณีที่จะชำระเป็นเงินไทย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 196 วรรคสอง จึงบัญญัติว่า “การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน” ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ที่ 4 ได้ขอให้จำเลยชำระหนี้ด้วยเงินตราต่างประเทศ คือเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษากำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์นั้น นอกจากจะไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ดังกล่าวแล้วยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอบังคับของโจทก์ โดยกำหนดการคิดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนที่จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น ไม่บังคับให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการ ในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share