แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่ออาคารที่จำเลยต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติดังกล่าวได้เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอน หรือร้องต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคแรกและวรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่จำเลยปลูกสร้างต่อเติมขึ้นปกคลุมด้านหลังอาคาร และที่ต่อเติมชั้นดาดฟ้าของอาคารตึกแถวเลขที่ 729/268 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางบำหรุเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนขอให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองได้ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างแล้วโจทก์ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43ที่บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตและแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่สร้างโดยมิได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบัญญัติเสียก่อนที่จะมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนโจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โดยมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาททันที โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่จำเลยปลูกสร้างต่อเติมขึ้นปกคลุมด้านหลังอาคารขนาด 2.00 x 4.00 เมตร สูง 8.20 เมตรและที่ต่อเติมชั้นดาดฟ้าขนาด 4.00 x 8.00 เมตร สูง 2.50 เมตรของอาคารตึกแถวเลขที่ 729/268 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางบำหรุเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองได้ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตและแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่สร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบัญญัติท้องถิ่นก่อนที่จะมีอำนาจสั่งให้รื้อถอน ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว กลับมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทเลยเป็นการปฏิบัติข้ามขั้นตอนของกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารนั้น ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่า ที่โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการออกคำสั่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่สามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้โจทก์จึงมีอำนาจที่จะออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมได้ทันที และจำเลยก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า การดัดแปลงต่อเติมอาคารของจำเลยถึงแม้จะขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 แต่ก็ยังสามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ อันจะทำให้จำเลยได้รับสิทธิตามมาตรา 43 ดังที่จำเลยอ้าง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าอาคารส่วนที่จำเลยต่อเติมสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้ดังนั้นข้อเท็จจริงในชั้นนี้จึงฟังได้ว่า การต่อเติมอาคารพิพาทของจำเลยทั้งหมด ทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว และอาคารที่จำเลยต่อเติมไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนหรือร้องต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคแรกและวรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งหมดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน