คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค่าชดเชยและเงินบำเหน็จที่นายจ้างจ่ายเป็นเงินซึ่งลูกจ้างมีสิทธิจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและตามข้อบังคับองค์การ ร.ส.พ.ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2519 เป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจกำหนดให้นายจ้างชดใช้ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4) มิใช่เป็นการซ้ำซ้อนกัน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายแก่นายโชติ บุญจริง 60,000 บาท เป็นจำนวนที่สมควร และเป็นคนละส่วนกับเงินค่าชดเชยและเงินบำเหน็จที่นายโชติ บุญจริง มีสิทธิได้รับ ตามข้อบังคับและประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อที่เกี่ยวกับปัญหาค่าเสียหายที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์เลิกจ้างนายโชติ บุญจริง โจทก์ก็ได้จ่ายเงินค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้นายโชติ บุญจริง จำนวน 64,885 บาทรับไปแล้ว โจทก์ไม่ควรต้องใช้ค่าเสียหายแก่นายโชติ บุญจริง ตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้เป็นการซ้ำกันอีกนั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า ค่าชดเชยและเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายเป็นเงินที่นายโชติ บุญจริง มีสิทธิจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และตามข้อบังคับองค์การ ร.ส.พ.ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2519ซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่นายโชติ บุญจริง ควรจะได้รับเมื่อถูกโจทก์เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจกำหนดให้โจทก์ชดใช้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4)มิใช่เป็นการซ้ำซ้อนดังอุทธรณ์ของโจทก์ ส่วนจำนวนค่าเสียหาย ศาลแรงงานกลางได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดให้โจทก์จ่ายแก่นายโชติ บุญจริง จำนวน 60,000 บาท เป็นจำนวนพอสมควร ไม่มีเหตุจะแก้ไข แสดงว่า ศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่อาจอุทธรณ์โต้แย้งได้”

พิพากษายืน

Share