คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2664/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษาฯ มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีมีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุที่ขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 3 ได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 3 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษาฯ โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 3 หรือไม่ ทั้งปัญหาว่าเมื่อ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษาฯ ใช้บังคับแล้วจะเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวและไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 4 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4346/2548, 2561/2549, 5502/2549 และ 6910/2549 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550
วันที่ 10 มกราคม 2551 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษ พ.ศ.2550 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณบังคับแก่คดีของจำเลยที่ 3 ทำให้โทษที่จำเลยที่ 3 เคยได้รับไม่มี จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ไม่ได้ ขอให้เพิกถอนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ออกจากคำพิพากษา กำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) และลดโทษที่เพิ่มลงกึ่งหนึ่งด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 2 กำหนดให้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ เป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังและมีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งมีผลย้อนหลังทำให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องถูกเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 นั้น กรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 กำหนดให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ไม่ใช่บทบัญญัติที่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ตามขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องขอให้เพิ่มโทษได้ถึงที่สุดไปแล้วและไม่มีคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลในวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ ทำให้ไม่อาจนำมาตรา 4 มาใช้แก่คดีที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องขอให้เพิ่มโทษได้ ทั้งมาตรา 2 ก็ไม่เปิดช่องให้นำมาใช้แก่คดีของจำเลยที่ 3 และไม่ใช่กรณีที่จะนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) มาใช้บังคับในฐานที่กฎหมายเป็นคุณเพื่อกำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่ได้ พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 3 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานบุกรุกในเวลากลางคืนและพยายามลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 858/2546 ของศาลอาญา และภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยที่ 3 ได้มากระทำความผิดในคดีนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีก มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า มีเหตุที่จะงดเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และกำหนดโทษจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 3 ได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้ โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 หรือไม่ แม้พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และคดีจำเลยที่ 3 จะถึงที่สุดไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแล้ว แต่ปัญหาว่าเมื่อมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้วจะเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด กรณีมีเหตุที่จะไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน

Share