คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2663/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ประกันตน โจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายตั้งแต่เริ่มป่วย (อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน) ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 โจทก์จึงเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 71 ตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มป่วย ไม่ใช่ตั้งแต่วันที่แพทย์ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายโจทก์ (วันที่ 13 มกราคม 2549) นายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยมีผลเป็นการเลิกจ้างในเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2545 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตั้งแต่วันที่ขาดรายได้หรือวันที่นายจ้างเลิกจ้างคือวันที่ 1 มิถุนายน 2545

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1048/2549 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ที่ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีทุพพลภาพแก่โจทก์ผู้ประกันตนตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2549 โดยให้โจทก์เป็นผู้ทุพพลภาพและมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ล้มป่วยเป็นต้นไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1048/2549 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีทุพพลภาพให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกเป็นมาตรา 71) นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2545 ไปตลอดชีวิตของโจทก์ โดยให้จำเลยหักเงินทดแทนการขาดรายได้ที่จำเลยได้จ่ายให้โจทก์ไปแล้วออกก่อน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2549 อันเป็นดังที่แพทย์ของจำเลยตรวจและวินิจฉัยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 บัญญัติว่า ทุพพลภาพ หมายความว่าการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจจนไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์พิจารณาซึ่งคณะกรรมการการแพทย์กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีทุพพลภาพไว้ในประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีทุพพลภาพ ลงวันที่ 23 มีนาคม 2536 ข้อ 1 ว่ากรณีที่ผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานเป็นเหตุให้สูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะอย่างถาวรในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ให้ถือว่าผู้ประกันตนทุพพลภาพ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้พิจารณา คือ (9) โรคหรือการบาดเจ็บของสมองเป็นเหตุให้สูญเสียความสามารถของอวัยวะของร่างกายจนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันที่จำเป็นได้และต้องมีผู้อื่นมาช่วยเหลือดูแล ทั้งต้องนำมาพิจารณาประกอบกับหลักเกณฑ์และอัตราประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพตามประกาศฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2534 (ที่ถูกน่าจะเป็นฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2534 ) ข้อ 1 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพจะต้องไปรับการตรวจและวินิจฉัยจากคณะกรรมการการแพทย์ด้วยตนเองเว้นแต่ผู้ประกันตนมีเหตุผลอันสมควรไม่สามารถไปรับการตรวจได้ ในกรณีดังกล่าวให้ผู้ประกันตนแจ้งเหตุผลให้สำนักงานประกันสังคมทราบ การที่ผู้ประกันตนจะเป็นผู้ทุพพลภาพหรือไม่ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งข้อกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความหมายว่า วันที่คณะกรรมการการแพทย์ตรวจและวินิจฉัยเป็นวันเริ่มต้นแห่งสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ กล่าวคือหากโจทก์เชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ทุพพลภาพตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ต้องยื่นแสดงความประสงค์ต่อจำเลยเพื่อให้ได้มีการวินิจฉัยจากแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับจำเลยว่าโจทก์เป็นผู้ทุพพลภาพก่อน แต่โจทก์ยื่นขอรับประโยชน์กรณีทุพพลภาพเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 โดยคณะกรรมการการแพทย์ของจำเลยยังมิได้มีการวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้ทุพพลภาพหรือไม่ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นทะเบียนกับจำเลยตรวจวินิจฉัยและมีความเห็นว่าโจทก์เป็นผู้ทุพพลภาพ ความเป็นผู้ทุพพลภาพของโจทก์จึงมีผลตั้งแต่วันที่แพทย์ของจำเลยวินิจฉัย มิใช่วันที่โจทก์เจ็บป่วยคือวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ตาม คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางนั้น เห็นว่าตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดตีบในสมองทำให้ร่างกายซีกขวาอ่อนแรงใช้การไม่ได้ ร่างกายซีกซ้ายพอใช้การได้ พูดได้แต่ช้า ฟังรู้เรื่อง เดินได้โดยใช้ไม้เท้าพยุง ช่วยเหลือตัวเองในการประกอบกิจวัตรประจำวันได้บ้าง ต้องรับการรักษาจากแพทย์โรงพยาบาลหลายแห่งตลอดมา จนเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 นายสิทธิชัย แพทย์ตรวจร่างกายโจทก์มีความเห็นว่าโจทก์มีอาการหรืออัมพาตของร่างกาย การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อมือ แขน ขา และเท้าข้างขวามีมาก การลีบของกล้ามเนื้อมือ แขน ขา และเท้าข้างขวามีน้อย เดินได้แต่ต้องมีคนหรือเครื่องช่วยพยุง มีการสูญเสียสมรรถภาพในการใช้แขนและมือข้างขวาจนไม่สามารถใช้ในการช่วยตนเองได้ ฟังเข้าใจแต่นึกคำพูดได้บ้างไม่ได้บ้าง สามารถเข้าใจและแสดงภาษาในการสื่อความหมายกับบุคคลอื่นได้ลำบากแต่พอสื่อความหมายได้ มีความผิดปกติในการควบคุมการถ่ายปัสสาวะและอุจจาระโดยควบคุมได้บ้าง กลั้นไม่ได้บ้างเป็นบางครั้ง ช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันโดยรับประทานอาหารได้บ้าง แต่งตัวได้บ้างโดยมีผู้อื่นช่วยเหลือ รับการรักษามาหลายปียังมีอาการร่างกายซีกขวาอ่อนแรงและพูดสื่อสารกับบุคคลอื่นลำบาก สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายมากกว่าร้อยละ 50 จึงเห็นควรให้เป็นผู้ทุพพลภาพ ดังนี้แสดงว่าโจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายตลอดมาตั้งแต่เริ่มป่วย เมื่อนายสิทธิชัยประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของโจทก์เช่นนี้โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 71 และประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีทุพพลภาพ ลงวันที่ 23 มีนาคม 2536 ข้อ 1 (9) ตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 แล้วดังคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง มิใช่ตั้งแต่วันที่นายแพทย์สิทธิชัยประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายโจทก์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 ดังที่คณะอนุกรรมการพิจารณาประโยชน์ทดแทนและคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยวินิจฉัยโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตั้งแต่วันที่ขาดรายได้หรือวันที่นายจ้างเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2545 ส่วนประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 (ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539) ข้อ 1 ตามที่จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์เป็นเพียงการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้การวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพได้ถูกต้องตามประกาศสำนักงานประกันสังคมฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2536 เท่านั้น มิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดวันเริ่มต้นแห่งสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share