คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2661/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 จะให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 แล้ว แต่จำเลยที่ 2ก็มิได้อ้างเหตุที่ฟ้องโจทก์ขาดอายุความว่าเป็นกรณีที่โจทก์รับช่วงสิทธิเรียกร้องมาจากผู้รับตราส่ง ซึ่งต้องเสียหายเพราะของสูญหาย เนื่องจากความผิดของจำเลยทั้งสองผู้ขนส่งทางทะเลซึ่งโจทก์ต้องฟ้องภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่ส่งมอบของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ประกอบด้วยมาตรา 4แต่อย่างใด คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 624 ดังกล่าวหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในคำให้การของจำเลยทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ก่อนเรือซึ่งบรรทุกสินค้าพิพาทมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ประกาศแจ้งความการมาถึงของเรือและสินค้าพิพาทให้ผู้รับตราส่งทราบ เมื่อเรือมาถึงจำเลยที่ 1 จะติดต่อทำพิธีการต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมศุลกากร กรมเจ้าท่า กองตรวจคนเข้าเมือง และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อนำเรือเข้าเทียบท่า แจ้งให้ผู้รับตราส่งทราบเพื่อให้ไปรับสินค้า หากมีค่าระวางเรือต้องเก็บปลายทางก็จะเป็นผู้เรียกเก็บไว้ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับค่าบำเหน็จจากการดำเนินการดังกล่าว และเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้า ดังนี้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งทอดสุดท้ายเพื่อให้สินค้าพิพาทได้ขนส่งถึงมือผู้ซื้อ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608 และ 618 ซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางทะเล เมื่อสินค้าที่ขนส่งสูญหายระหว่างการขนส่งจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการสูญหายของสินค้าพิพาทให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้รับตราส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงสู่เรือเล็กแล้วนำเข้าเก็บในโกดังนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้สินค้านั้นถึงมือผู้ซื้อในการขนส่งช่วงสุดท้าย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดง่วนเอี้ยวฮวดลูกค้าของโจทก์ได้สั่งซื้อกระดาษพิมพ์หนังสือพิมพ์จำนวน 900 ม้วนจากประเทศเยอรมันตะวันตก ผู้ขายจัดส่งสินค้าโดยเรือ “แรดนอติ”เมื่อเรือเดินทางมาถึงจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเข้าจัดการรับช่วงสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในประเทศไทย โดยจัดการเกี่ยวกับพิธีการต่าง ๆ ให้เรือ “แรดนอติ” เข้าเทียบท่าในประเทศไทยและจัดขนถ่ายสินค้าให้ผู้รับตราส่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดง่วนเอี้ยวฮวดเอาประกันสินค้าทั้งหมดไว้แก่โจทก์ ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ผู้รับตราส่งได้ครบถ้วน สินค้าขาดหายไป79 ม้วน ห้างหุ้นส่วนจำกัดง่วนเอี้ยวฮวดเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงให้โจทก์ชดใช้ โจทก์ชำระค่าเสียหายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดง่วนเอี้ยวฮวดไป โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 256,971.96บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเลร่วมกับบริษัทเดินเรือในต่างประเทศโดยใช้เรือแรดนอติ หรือเรืออื่นใด จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนเรือไม่เคยมีหรือเคยใช้เรือแรดนอตินี้เลย เมื่อเรือแรดนอติมาถึงประเทศไทย บริษัทตัวแทนของบริษัทเดทเลฟฟอนแอปเปน(จีเอ็มบีเอช) จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัทวีรวรรณ จำกัดขนถ่ายกระดาษพิมพ์ลงเรือเล็กส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งเองจำเลยที่ 1มิได้เกี่ยวข้อง จำเลยที่ 1 และเจ้าของเรือแรดนอติจึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1รับช่วงขนสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในประเทศไทยตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนจำกัดง่วนเอี้ยวฮวด จึงไม่มีหน้าที่จะต้องส่งสินค้าให้ผู้รับตราส่งสินค้ามิได้ขาดหายไปจำนวน 79 ม้วน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน256,971.96 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอายุความตามฎีกาของโจทก์เสียก่อนว่า ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ขึ้นมาวินิจฉัยนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในคำให้การของจำเลยทั้งสองหรือไม่ในปัญหานี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งสิทธิเรียกร้องนั้นขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 882 แล้วฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2จะให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้อ้างเหตุที่ฟ้องโจทก์ขาดอายุความว่าเป็นกรณีที่โจทก์รับช่วงสิทธิเรียกร้องมาจากผู้รับตราส่ง ซึ่งต้องเสียหายเพราะของสูญหายเนื่องจากความผิดของจำเลยทั้งสองผู้ขนส่งทางทะเล โจทก์ต้องฟ้องภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่ส่งมอบของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ประกอบด้วยมาตรา 4 แต่อย่างใด คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 624 ดังกล่าวหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในคำให้การของจำเลยทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 183 จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้โจทก์จะฎีกาต่อไปว่ากรณีของโจทก์ต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 หาใช่ตามมาตรา 624 ไม่และจำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ก็ตาม แต่เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า คดีไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 624 หรือไม่ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวต่อไปมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับผู้ขนส่งอันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการรับขนทางทะเลโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย และจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับช่วงขนส่งสินค้าพิพาทในช่วงสุดท้ายร่วมกับจำเลยที่ 1ตามฎีกาของโจทก์หรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนเรือแรดนอติซึ่งบรรทุกสินค้าพิพาทมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ประกาศแจ้งความการมาถึงของเรือแรดนอติและสินค้าพิพาทให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดง่วนเอี้ยวฮวดผู้รับตราส่งทราบ เมื่อเรือมาถึงจำเลยที่ 1 จะติดต่อทำพิธีการต่าง ๆกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากรกรมเจ้าท่า กองตรวจคนเข้าเมือง และการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อนำเรือเข้าเทียบท่า แจ้งให้ผู้รับตราส่งทราบเพื่อให้ไปรับสินค้า หากมีค่าระวางเรือต้องเก็บปลายทางก็จะเป็นผู้เรียกเก็บไว้ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับค่าบำเหน็จจากการดำเนินการดังกล่าวและเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้า ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงสู่เรือเล็ก แล้วนำเข้าเก็บในโกดัง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างให้บริษัทวีรวรรณ จำกัด ดำเนินการดังกล่าว ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งทอดสุดท้ายเพื่อให้สินค้าพิพาทได้ขนส่งถึงมือผู้ซื้อ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608 และ 618ซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางทะเลเมื่อสินค้าที่ขนส่งสูญหายระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการสูญหายของสินค้าพิพาทให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้รับตราส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงสู่เรือเล็กแล้วนำเข้าเก็บในโกดังนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้สินค้านั้นถึงมือผู้ซื้อในการขนส่งช่วงสุดท้าย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share