คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2661/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขรถยนต์คันพิพาทมาจากโจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 2 นำรถไปประกอบการขนส่งโจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันพิพาทอันมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยได้.
ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยมีลายมือชื่อผู้จัดการของจำเลยและมีรายละเอียดต่าง ๆ คือ หมายเลขทะเบียนและรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ที่เอาประกันภัย ทุนประกันระยะเวลาประกัน ทั้งระบุหมายเลขของกรมธรรม์ด้วย ดังนี้ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวย่อมเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้.
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2524 โจทก์ที่ 2 ได้โทรศัพท์ทางไกลจากจังหวัดมุกดาหาร ขอเสนอเอาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทกับตัวแทนของจำเลยประจำ จังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนจำเลยได้ออกใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัยของจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 2 ในวันนั้น โดยระบุระยะเวลาประกันเริ่มวันที่ 3 พฤษภาคม 2524 สิ้นสุด 3 พฤษภาคม 2525 เวลา 0.01 นาฬิกาตัวแทนจำเลยได้โทรเลขแจ้งจำเลยที่กรุงเทพมหานครจำเลยได้รับโทรเลขวันที่ 4 เดือนเดียวกัน วันที่ 4 พฤษภาคม 2524โจทก์ที่ 2 ได้ส่งตั๋วแลกเงินชำระค่าประกันภัยให้ตัวแทนจำเลย และวันที่ 6 เดือนเดียวกันจำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันพิพาท ดังนี้ ต้องถือว่าการประกันภัยรายนี้ได้ตกลงกันแล้วระหว่างโจทก์ที่ 2 กับตัวแทนจำเลยในวันที่ 2 พฤษภาคม 2524 เมื่อรถยนต์คันพิพาทถูกคนร้ายปล้นเอาไปตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2524 เวลา 22 นาฬิกา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้เงิน 344,825 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 300,000 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2524 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2524โจทก์ที่ 2 ได้โทรศัพท์ทางไกลจากจังหวัดมุกดาหารขอเสนอเอาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทกับนายสนิท ตัวแทนจำเลยประจำจังหวัดอุบลราชธานีนายสนิทตกลงรับประกันภัยรถยนต์คันพิพาทในวงเงิน 300,000 บาทและออกใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.7 และในวันดังกล่าวนายสนิทได้โทรเลขแจ้งให้จำเลยทราบ ตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยได้รับโทรเลขดังกล่าววันที่ 4 พฤษภาคม 2524 และเมื่อวันที่ 3พฤษภาคม 2524 รถยนต์คันพิพาทถูกคนร้ายปล้น ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม2524 โจทก์ที่ 2 ส่งตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ล.3 ไปชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์คันพิพาทให้นายสนิท วันที่ 6 พฤษภาคม 2524 จำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยรายนี้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันพิพาทหรือไม่ และเกิดสัญญาก่อนเกิดเหตุอันจะทำให้จำเลยต้องรับผิดหรือไม่…ส่วนในข้อที่ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันพิพาทอันจะทำให้เป็นผู้มีส่วนได้เสียเอาประกันภัยได้หรือไม่นั้น จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขเอกสารหมาย จ.4 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 และเอกสารหมาย จ.4กับเอกสารหมาย จ.5 มีข้อความขัดแย้งกัน ฟังไม่ได้ว่า โจทก์ที่ 2เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันพิพาทและมีส่วนได้เสีย ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะไม่รับฟังเอกสารหมาย จ.4 พยานหลักฐานโจทก์ในข้อนี้มีนายสุรยุทธ เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.5 ว่า โจทก์ที่ 2 ได้ซื้อขายมีเงื่อนไขรถยนต์คันพิพาทมาจากโจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 2 นำรถคันพิพาทไปประกอบการขนส่งตามใบอนุญาตประกอบการขนส่งเอกสารหมาย จ.5ซึ่งเอกสารฉบับดังกล่าวระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์ และเลขเครื่องยนต์ตรงกับรถยนต์คันพิพาทและโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของ โจทก์ที่ 2เป็นผู้ประกอบการขนส่งและระบุว่า มีสิทธิครอบครองและใช้รถโดยเช่าซื้อ โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นเช่นนี้ ย่อมพอเพียงที่จะฟังว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันพิพาทอันมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยได้ ความแตกต่างของพยานหลักฐานเพียงแต่การเรียกชื่อสัญญาว่า “ซื้อขายมีเงื่อนไข”กับเรียกว่า “เช่าซื้อ” ไม่ถึงกับทำให้พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้เพราะสัญญาสองประเภทนี้มีลักษณะใกล้เคียงกันอยู่มาก อาจเรียกสับสนกันได้
ส่วนในประเด็นที่ว่า จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันพิพาทหรือไม่ และเกิดสัญญาก่อนเกิดเหตุอันจะทำให้จำเลยต้องรับผิดหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่าเมื่อวันที่ 2พฤษภาคม 2524 โจทก์ที่ 2 ได้โทรศัพท์ทางไกลจากจังหวัดมุกดาหารขอเสนอเอาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทกับนายสนิทตัวแทนของจำเลยประจำจังหวัดอุบลราชธานี นายสนิทได้ออกใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันของจำเลยเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่โจทก์ที่ 2 และนายสนิทได้โทรเลขแจ้งจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยได้รับโทรเลขดังกล่าวในวันที่4 พฤษภาคม 2524 และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ที่ 2 ได้ส่งตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ล.3 ชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์คันพิพาทให้นายสนิทวันที่ 6 เดือนเดียวกัน จำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันพิพาท แต่รถยนต์คันพิพาทได้ถูกคนร้ายปล้นเอาไปตั้งแต่วันที่ 3พฤษภาคม 2524 เวลา 22 นาฬิกา เช่นนี้จากใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 ปรากฏว่า มีลายมือชื่อผู้จัดการของจำเลยและมีรายละเอียดต่าง ๆ กล่าวคือ หมายเลขทะเบียนและรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ที่เอาประกันภัยซึ่งบ่งถึงรถยนต์คันเกิดเหตุนี้ทุนประกัน 300,000 บาท ระยะเวลาประกันเริ่มวันที่ 3พฤษภาคม 2524 สิ้นสุด 3 พฤษภาคม 2525 เวลา 0.01 นาฬิกาทั้งระบุหมายเลขของกรมธรรม์ว่า เลขที่ อบ. 076/24 ซึ่งตรงกับรายละเอียดในกรมธรรม์ประกันภัย ในกรมธรรม์ประกันภัยก็ระบุให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2524 ด้วย ทั้งนายสนิทเบิกความว่าโจทก์ที่ 2 เคยนำรถยนต์คันพิพาทมาประกันไว้กับจำเลยมาก่อน และว่าเงินค่าเบี้ยประกันภัยตามเอกสารหมาย ล.3 ที่โจทก์ที่ 2 ชำระแก่จำเลยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2524 เป็นจำนวนเงินค่าเบี้ยประกันสำหรับรถยนต์ 2 คันรวมทั้งรถคันพิพาทด้วย แสดงถึงการติดต่อกันมานาน จึงฟังได้ว่า การประกันภัยรายนี้ได้ตกลงกันแล้วระหว่างโจทก์ที่2 กับนายสนิทตัวแทนของจำเลยในวันที่ 2 พฤษภาคม 2524 โดยมีใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 เป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้จัดการของจำเลย จึงสมบูรณ์และฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ อันมีผลว่าสัญญาประกันภัยรายนี้เกิดขึ้นก่อนที่เกิดเหตุรถยนต์คันพิพาทถูกคนร้ายปล้นไป จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share