แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศไว้ในครอบครองโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ อันเป็นความผิดตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 เมื่อโจทก์อ้างบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดมาท้ายฟ้องแล้ว แม้อ้างบทมาตราที่เป็นบทลงโทษไม่ถูกต้อง คืออ้างแต่มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 และพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2510 ซึ่งถูกยกเลิกแก้ไขใหม่แล้ว เมื่อปรากฏว่าขณะจำเลยกระทำผิดได้มีพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2512 มาตรา 17 ยกเลิกแก้ไขบทลงโทษมาตรา 49 ใหม่ ดังนี้ ศาลก็ลงโทษจำเลยด้วยระวางโทษที่กำหนดในบทมาตราที่แก้ไขใหม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบได้บังอาจมีบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศอันเป็นยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบฯ รวม 200 ซอง หนัก 4,200 กรัม ไว้ในครอบครองโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบฯ ซึ่งบัญญัติให้ต้องเสียค่าแสตมป์ยาสูบ ปิด 1 กรัมต่อ 16 สตางค์ รวมค่าแสตมป์ยาสูบที่จำเลยจะต้องปิดทั้งหมดเงิน 672 บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 19, 44, 49 กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2510) และฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2512) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 สั่งริบของกลาง และบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างมาท้ายฟ้อง ให้ปรับ 4,200 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับ 2,100 บาท ของกลางริบ โทษที่รอไว้ไม่อาจเอามาบวกให้ได้ตามขอ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ต้องปรับ 10 เท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดตามพระราชบัญญัติยาสูบที่ขอมาท้ายฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมาว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษโดยอาศัยความตามมาตรา 49ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 นั้นไม่ชอบเพราะถูกยกเลิกแล้วโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2512
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 49 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่า”ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 หรือมาตรา 20 ต้องระวางโทษปรับสิบเท่าของค่าแสตมป์ที่จะต้องปิด ถ้าเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่มิได้ทำโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ ต้องระวางโทษปรับกรัมละหนึ่งบาท” ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ลงโทษปรับจำเลยกรัมละ 1 บาทเป็นเงิน 4,200 บาทแต่ปรากฏว่าขณะจำเลยกระทำผิดได้มีพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2512 แก้ไขบทลงโทษในมาตรา 49 เป็นว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19หรือมาตรา 20 ต้องระวางโทษปรับสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดหรือที่ขาดอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท ถ้าเป็นบุหรี่ซิกาแรตซึ่งผลิตในประเทศและมิได้มีประกาศกำหนดราคาขายปลีกไว้ต้องระวางโทษปรับกรัมละสองบาท แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท” ดังนี้ เนื่องจากโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกแก้ไขยกเลิกแล้ว ศาลฎีกาจะปรับบทลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะจำเลยกระทำผิดได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยกระทำผิดฐานมีบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศไว้ในครอบครองโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ อันเป็นความผิดตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 ซึ่งโจทก์ได้อ้างบทมาตราที่จำเลยกระทำผิดมาท้ายฟ้องแล้วเพียงแต่โจทก์อ้างมาตราอันเป็นบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้อง คือแทนที่จะอ้างมาตรา 49 ซึ่งแก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2512 โจทก์กลับอ้างมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 และพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 ซึ่งถูกยกเลิกและแก้ไขใหม่แล้ว มาเป็นบทลงโทษจำเลยเท่านั้น กรณีดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อฟังว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 แล้ว ก็ย่อมต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 49 แม้โจทก์จะอ้างแต่มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาเฉย ๆ ศาลก็ลงโทษจำเลยตามมาตรา 49ซึ่งแก้ไขใหม่แล้วได้ เพราะแม้จะแก้ไขใน พ.ศ. ใด ก็คงเป็นมาตรา 49 นั้นเอง ทั้งนี้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 346/2482 ระหว่างพนักงานอัยการลพบุรี โจทก์ นายขุนทอง สุภาพ จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ไม่ใช่แล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 19 และมาตรา 49 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2512 มาตรา 17ให้ปรับจำเลย 10 เท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด 672 บาท เป็นเงิน 6,720 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 3,360 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์