คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 4 นิยามคำว่า “ฉลาก” หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่วัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับวัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ และหมายความรวมถึงเอกสาร หรือคู่มือประกอบการใช้วัตถุอันตรายด้วย มาตรา 62 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะต้องระมัดระวังตรวจสอบความเชื่อถือได้ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้จัดหาวัตถุอันตรายนั้นให้แก่ตน ความถูกต้องของภาชนะบรรจุและฉลาก ความเหมาะสมของการเก็บรักษา และความไว้วางใจได้ของผู้ที่รับมอบวัตถุอันตรายไปจากตนและมาตรา 83 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ที่ขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลาก หรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องมีความผิด นอกจากนี้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ.2538 ข้อ 6 (12) กำหนดให้วัตถุอันตรายที่ขายหรือจำหน่าย หรือแสดงไว้เพื่อขายหรือจำหน่ายต้องมีฉลากขนาดที่เหมาะสมกับภาชนะบรรจุ ปิดหรือพิมพ์ไว้ที่ภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายทุกชิ้น ฉลากดังกล่าวต้องมีเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้ เช่นนี้ เห็นได้ว่ากฎหมายให้ความสำคัญกับฉลาก วันเดือนปีที่ผลิตที่ผู้ขายต้องแสดงให้ลูกค้าทราบเพื่อรู้ว่าสินค้าหมดอายุเมื่อใด จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้ขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุอันตรายที่ผลิตหรือขายทั้งภาชนะที่บรรจุคือขวดไม่ว่าชนิดใดและหีบห่อบรรจุคือกล่อง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ขายสารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดแมลงของกลางอันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 ซึ่งผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตรและขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบฉลากและภาชนะวัตถุอันตรายตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของฉลากแสดงวันเดือนปีที่ผลิตสินค้าก่อนส่งให้ลูกค้า… จำเลยทั้งสองไม่ได้เปิดกล่องกระดาษตรวจดูเป็นรายขวดหรือแกลลอนที่บรรจุเนื่องจากเห็นว่าหากกล่องกระดาษมีร่องรอยการแกะก่อนส่งให้ลูกค้าจะมองดูไม่น่าเชื่อถือ ทั้งการตรวจสินค้าดังกล่าวเป็นประเพณีทางการค้าที่ผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้และผู้จัดจำหน่ายปฏิบัติต่อกัน จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดจำหน่ายจึงไม่สามารถล่วงรู้ว่าสินค้าเคมีเกษตรแต่ละชนิดที่บริษัท พ. ผลิตออกมา มีรายการวันเดือนปีที่ผลิตติดไว้ครบถ้วนทุกขวดทุกแกลลอนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของบริษัท พ. ที่จะต้องติดรายการวันเดือนปีที่ผลิต นั้น จำเลยทั้งสองสามารถส่งพนักงานไปตรวจสอบสินค้าที่บริษัท พ. ผลิตก่อนที่จะบรรจุกล่อง หากพบว่าฉลากไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ผลิตก็สามารถแก้ไขได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบดังกล่าว กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 4, 5, 7, 20, 21, 23, 73, 83, 88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 และริบวัตถุอันตรายของกลางให้กรมวิชาการเกษตรเพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควร โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้แก่ทางราชการ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 23 (ที่ถูก มาตรา 23 วรรคหนึ่ง), 73, 83 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน ฐานร่วมกันขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมีฉลากแต่ฉลากไม่ถูกต้อง ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบวัตถุอันตรายของกลางให้กรมวิชาการเกษตร คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมีฉลากแต่ฉลากไม่ถูกต้อง ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ปรับ 40,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนจำเลยที่ 1 คงปรับ 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 ซึ่งผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตรและขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบฉลากและภาชนะวัตถุอันตรายตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการค้าขายสินค้าประเภทเคมีเกษตรมาตั้งแต่ปี 2547 โดยซื้อสินค้าเคมีเกษตรจากบริษัทพานาแลบ จำกัด แล้วฝากสินค้าให้บริษัทพานาแลบ จำกัด เป็นผู้เก็บรักษาไว้แทนจำเลยทั้งสอง เมื่อมีผู้สั่งซื้อสินค้า จำเลยทั้งสองจะแจ้งให้บริษัทพานาแลบ จำกัด จัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าโดยตรง ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสารกำจัดแมลง ชื่อทางการค้า เคนโรมิกซ์ ชื่อสามัญ Dimethoate (ไดเมโทเอต) อันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2 ขวด โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองร่วมกันขายสารกำจัดวัชพืช ชื่อทางการค้า พี – ไรซ์ ไดเมทิลแอมโมเนียม ชื่อสามัญ 2, 4 – D dimenthylammonium บรรจุในขวดแก้วสีชา ขนาด 1,000 ซีซี จำนวน 2 ขวด สารกำจัดวัชพืช ชื่อทางการค้า ไกลโฟเซต 48 ชื่อสามัญ Glyphosate isopropylammonium salt บรรจุในขวดพลาสติก ขนาด 1 ลิตร จำนวน 2 ขวด สารกำจัดวัชพืช ชื่อทางการค้า ซีมิกซ์ ชื่อสามัญ Abamectin บรรจุในขวดแก้วสีชา ขนาด 500 ซีซี จำนวน 2 ขวด สารกำจัดวัชพืช ชื่อทางการค้า พาราควอต ชื่อสามัญ Paraquat dichloride บรรจุแกลลอนพลาสติก ขนาด 1 ลิตร จำนวน 2 ขวด สารกำจัดแมลง ชื่อทางการค้า ซีโก้ 35 ชื่อสามัญ Cypermethrin บรรจุในขวดแก้วสีชา ขนาด 1,000 ซีซี จำนวน 2 ขวด สารกำจัดแมลง ชื่อทางการค้า ฟีโก้ 40 ชื่อสามัญ Chlorpyrifos บรรจุในขวดแก้วสีชา ขนาด 500 ซีซี จำนวน 2 ขวด และสารกำจัดแมลง ชื่อทางการค้า ซีโก้ 10 ชื่อสามัญ Cypermethrin บรรจุในขวดแก้วสีชา ขนาด 500 ซีซี จำนวน 2 ขวด อันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดแมลงดังกล่าวทั้งที่บรรจุขวดและแกลลอนมีฉลากที่ไม่ได้ระบุวันที่ผลิต นายสาโรจน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตรและคณะยึดสารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดแมลงดังกล่าวทั้งหมดไปตรวจสอบและอธิบดีกรม – วิชาการเกษตรมอบอำนาจให้นายโสภณ นิติกรปฏิบัติงานไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานร่วมกันขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมีฉลากแต่ฉลากไม่ถูกต้อง สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คดีเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมีฉลากแต่ฉลากไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมีฉลากแต่ฉลากไม่มีวันเดือนปีที่ผลิตครบองค์ประกอบของความผิดฐานนี้แล้ว เห็นว่า ความผิดฐานนี้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 4 นิยามคำว่า “ฉลาก” หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่วัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับวัตถุอันตราย หรือภาชนะ บรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ และหมายความรวมถึงเอกสาร หรือคู่มือประกอบการใช้วัตถุอันตรายด้วย มาตรา 62 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะต้องระมัดระวังตรวจสอบความเชื่อถือได้ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้จัดหาวัตถุอันตรายนั้นให้แก่ตน ความถูกต้องของภาชนะบรรจุและฉลาก ความเหมาะสมของการเก็บรักษา และความไว้วางใจได้ของผู้ที่รับมอบวัตถุอันตรายไปจากตน และมาตรา 83 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ที่ขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลาก หรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องมีความผิด นอกจากนี้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ.2538 ข้อ 6 (12) กำหนดให้วัตถุอันตรายที่ขายหรือจำหน่าย หรือแสดงไว้เพื่อขายหรือจำหน่ายต้องมีฉลากขนาดที่เหมาะสมกับภาชนะบรรจุ ปิดหรือพิมพ์ไว้ที่ภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายทุกชิ้น ฉลากดังกล่าวต้องมีเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้ เช่นนี้ เห็นได้ว่ากฎหมายให้ความสำคัญกับฉลากวันเดือนปีที่ผลิตที่ผู้ขายต้องแสดงให้ลูกค้าทราบเพื่อรู้ว่าสินค้าหมดอายุเมื่อใด จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้ขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุอันตรายที่ผลิตหรือขายทั้งภาชนะที่บรรจุคือขวดไม่ว่าชนิดใดและหีบห่อบรรจุคือกล่อง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ขายสารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดแมลงของกลางอันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 ซึ่งผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตรและขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบฉลากและภาชนะวัตถุอันตรายตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของฉลากแสดงวันเดือนปีที่ผลิตสินค้าก่อนส่งให้ลูกค้า ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยทั้งสองติดต่อซื้อสินค้าเคมีเกษตรจากบริษัทพานาแลบ จำกัด ผ่านนายโสภณ ซึ่งจำเลยทั้งสองมอบหมายให้บริษัทพานาแลบ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ขออนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย ผลิตสินค้าเคมีเกษตรและปิดฉลากข้างภาชนะบรรจุ ตลอดจนพิมพ์หรือประทับวันเดือนปีที่ผลิตให้ จำเลยทั้งสองชำระค่าธรรมเนียมให้แก่บริษัทพานาแลบ จำกัด ตลอดมาและตรวจดูฉลากที่ติดไว้ข้างกล่องกระดาษพบว่ามีรายการวันเดือนปีที่ผลิตติดไว้ครบถ้วน จำเลยทั้งสองไม่ได้เปิดกล่องกระดาษตรวจดูเป็นรายขวดหรือแกลลอนที่บรรจุเนื่องจากเห็นว่าหากกล่องกระดาษมีร่องรอยการแกะก่อนส่งให้ลูกค้าจะมองดูไม่น่าเชื่อถือ ทั้งการตรวจสินค้าดังกล่าวเป็นประเพณีทางการค้าที่ผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้และผู้จัดจำหน่ายปฏิบัติต่อกัน จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดจำหน่ายจึงไม่สามารถล่วงรู้ว่าสินค้าเคมีเกษตรแต่ละชนิดที่บริษัทพานาแลบ จำกัด ผลิตออกมา มีรายการวันเดือนปีที่ผลิตติดไว้ครบถ้วนทุกขวดทุกแกลลอนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของบริษัทพานาแลบ จำกัด ที่จะต้องติดรายการวันเดือนปีที่ผลิต นั้น จำเลยทั้งสองสามารถส่งพนักงานไปตรวจสอบสินค้าที่บริษัทพานาแลบ จำกัด ผลิตก่อนที่จะบรรจุกล่อง หากพบว่าฉลากไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ผลิตก็สามารถแก้ไขได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบดังกล่าว กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบยังมีความน่าสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองทราบหรือไม่ว่าสินค้าเคมีเกษตรซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่จำเลยทั้งสองขายมีการติดฉลากแต่ฉลากไม่ถูกต้องครบถ้วน ทำนองว่าจำเลยทั้งสองขาดเจตนาในการกระทำความผิด แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันขายวัตถุอันตรายชนิด ที่ 3 โดยมีฉลากแต่ฉลากไม่ถูกต้องอีกฐานหนึ่งด้วย ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่แล้ว คงปรับจำเลยทั้งสองคนละ 30,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้วคงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share