แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุว่า “จำเลยตกลงจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและเงินช่วยเหลือพิเศษในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุและถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดสำหรับลูกจ้างรายวันตามอายุงานดังนี้ อายุงานครบ 15 ปี ไม่ครบ 20 ปี เพิ่มให้ 2 เดือน อายุงานครบ 20 ปี ไม่ครบ 25 ปี เพิ่มให้ 3 เดือน อายุงานครบ 25 ปี ไม่ครบ 30 ปี เพิ่มให้ 4 เดือน อายุงานครบ 30 ปี เพิ่มให้ 5 เดือน” เห็นได้ว่า จำเลยตกลง จ่ายเงินทั้ง 2 ประเภท คือ ค่าชดเชยและเงินช่วยเหลือพิเศษ ให้แก่ลูกจ้าง เฉพาะค่าชดเชยเป็นการจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย ส่วนเงินช่วยเหลือพิเศษเป็นการ จ่ายเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าชดเชย จำเลยตกลงจ่ายเงินเพิ่ม เฉพาะลูกจ้างรายวันซึ่งมีอายุงานครบ 15 ปีขึ้นไปที่เกษียณอายุ และถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเท่านั้น ดังนี้ เมื่อโจทก์ มิใช่ลูกจ้างที่เกษียณอายุ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับ เงินช่วยเหลือพิเศษตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว
ย่อยาว
คดีทั้งห้าร้อยหกสิบสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีหมายเลขดำที่ 13969/2541, 1398/2541, 13984/2541, 15737/2541, 16068/2541, 16146/2541,16162/2541, 16173/2541, 16184/2541, 16191/2541, 16195/2541, 16199/2541, 16204/2541, 16213/2541, 16221/2541, 16240/2541 และ 16283/2541 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 579 แต่คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 21 ที่ 23 ที่ 25 ถึงที่ 84 ที่ 86 ถึงที่ 356 ที่ 358 ถึงที่ 434 ที่ 346 ถึงที่ 450 ที่ 452 ถึงที่ 461 ที่ 463 ถึงที่ 472ที่ 474 ถึงที่ 479 ที่ 481 ถึงที่ 483 ที่ 485 ถึงที่ 487 ที่ 489 ถึงที่ 492 ที่ 494 ถึงที่ 501 ที่ 503 ถึงที่ 509 ที่ 511 ถึงที่ 528 ที่ 530 ถึงที่ 571 และที่ 573 ถึงที่ 579
โจทก์ทั้งห้าร้อยเจ็ดสิบเก้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งหมดทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย มีวันเข้าทำงานค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้อง กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 หรือ 16 และวันที่ 30หรือ 31 ของเดือน ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงานไทยอเมริกัน – ไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ลูกจ้างรายวันกรณีลูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดตามอายุงานของลูกจ้าง ขณะถูกเลิกจ้างโจทก์บางคนใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปียังไม่ครบ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าวนอกจากนี้จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้าง เงินประกัน ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์บางคน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างค้าง เงินประกัน ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งห้าร้อยเจ็ดสิบเก้าสำนวนให้การว่า จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานไทย – อเมริกันไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินช่วยเหลือพิเศษมีหลักเกณฑ์จ่ายให้ในกรณีลูกจ้างรายวันเกษียณอายุและถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด โจทก์ทั้งหมดไม่ได้ถูกเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษตามฟ้อง นอกจากนี้โจทก์ที่ 9 ที่ 22 และที่ 24 เป็นลูกจ้างรายเดือนย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ การคำนวณเงินช่วยเหลือพิเศษตามฟ้องไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างรายวันต้องใช้อัตราค่าจ้างรายวันคูณด้วย 26 วันทำงานเป็นเกณฑ์ โจทก์ทั้งหมดไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เนื่องจากจำเลยได้ประกาศให้โจทก์ทั้งหมดใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจนครบก่อนปิดกิจการจำเลยจ่ายเงินประกัน ค่าจ้างค้าง ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหมดไปแล้ว โจทก์ทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องอีก ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 357 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 16068/2541 ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์แต่ละคนตามบัญชีท้ายคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย สำหรับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นับแต่วันฟ้องคือวันที่7 สิงหาคม 2541 เฉพาะโจทก์ที่ 277 ที่ 292 และที่ 307นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2541 ส่วนโจทก์ที่ 480 ที่ 484 ที่ 493ที่ 502 และที่ 572 นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ทั้งห้าร้อยหกสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าร้อยหกสิบสองว่า โจทก์ทั้งห้าร้อยหกสิบสองมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นจำนวนเงินที่ระบุไว้ในตารางรายละเอียดคำฟ้องโจทก์เอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.2 ข้อเรียกร้องที่ 9 ระบุว่า “บริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและเงินช่วยเหลือพิเศษในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุและถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดสำหรับลูกจ้างรายวันตามอายุงานดังนี้
อายุงานครบ 15 ปี ไม่ครบ 20 ปี เพิ่มให้ 2 เดือน
อายุงานครบ 20 ปี ไม่ครบ 25 ปี เพิ่มให้ 3 เดือน
อายุงานครบ 25 ปี ไม่ครบ 30 ปี เพิ่มให้ 4 เดือน
อายุงานครบ 30 ปี เพิ่มให้ 5 เดือน ”
เห็นได้ว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวจำเลยตกลงจ่ายเงินทั้ง 2 ประเภท คือ ค่าชดเชยและเงินช่วยเหลือพิเศษให้แก่ลูกจ้างเฉพาะค่าชดเชยเป็นการจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย ส่วนเงินช่วยเหลือพิเศษเป็นการจ่ายเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าชดเชย แต่จำเลยตกลงจ่ายเงินดังกล่าวเพิ่มให้เฉพาะลูกจ้างรายวันซึ่งมีอายุงานครบ 15 ปีขึ้นไปที่เกษียณอายุและถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเท่านั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยกำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เกษียณอายุ และโจทก์ทั้งห้าร้อยหกสิบสองมิใช่ลูกจ้างที่เกษียณอายุ ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งห้าร้อยหกสิบสองเป็นลูกจ้างรายวันซึ่งมีอายุงานครบ 15 ปี ขึ้นไปและถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดก็ตามแต่เมื่อโจทก์ทั้งห้าร้อยหกสิบสองมิใช่ลูกจ้างที่เกษียณอายุโจทก์ทั้งห้าร้อยหกสิบสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว
ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งห้าร้อยหกสิบสองอ้างในอุทธรณ์ว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทั้งสหภาพแรงงาน ไทยอเมริกัน – ไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ กับจำเลยมีเจตนาให้จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ลูกจ้างรายวันซึ่งทำงานครบ 15 ปีขึ้นไปที่เกษียณอายุประเภทหนึ่ง และจ่ายแก่ลูกจ้างรายวันซึ่งทำงานครบ 15 ปีขึ้นไปที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดอีกประเภทหนึ่ง เพราะการเกษียณอายุก็ดี การถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดก็ดี เป็นเหตุให้สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงเช่นเดียวกันนั้น เห็นว่า หากสหภาพแรงงานไทยอเมริกัน – ไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ กับจำเลยมีเจตนาจะให้จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ลูกจ้างรายวันซึ่งทำงานครบ 15 ปีขึ้นไปในกรณีที่ลูกจ้างดังกล่าวเกษียณอายุประเภทหนึ่งและในกรณีที่ลูกจ้างดังกล่าวถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดอีกประเภทหนึ่งดังที่โจทก์ทั้งห้าร้อยหกสิบสองอ้างแล้วข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.2 ข้อเรียกร้อง ที่ 9 ควรใช้คำว่า “หรือ” ระหว่างข้อความว่า “ลูกจ้างเกษียณอายุ”กับ “ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด” แทนที่จะใช้คำว่า “และ”ตามที่ระบุไว้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน