คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2652/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลย ส่วนฟ้องแย้งสั่งไม่รับ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นต้องสั่งให้ส่งหมายเรียกและฟ้องแย้งให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งยื่นต่อศาลภายในแปดวันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคแรก และระยะเวลาแปดวันนั้นต้องนับตั้งแต่โจทก์ได้รับหมายเรียกแล้วมิใช่นับตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นงดออกหมายเรียกให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๒๕๐ ตารางวา โดยปลูกบ้านเลขที่ ๔๖ อยู่อาศัยในที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๖๖๒ แขวงกระทุ่มแบน เขตหนองจอกกรุงเทพมหานคร จากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมและสัญญาเช่าสิ้นสุดไปนานแล้ว ครั้นโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวมาโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไป โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจำเลยเพิกเฉย ถ้าให้คนอื่นเช่าที่ดินดังกล่าวจะได้ค่าเช่าเดือนละ ๑,๒๕๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ ๔๖ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์และห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ ๑,๒๕๐ บาทนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไป
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การกับฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๖๖๒ ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง หากเป็นของโจทก์ โจทก์รับโอนมาก็ไม่ได้เสียค่าตอบแทนและไม่สุจริต การออกโฉนดที่ดินไม่ชอบเพราะรังวัดเอาที่ดินคลองแสนแสบที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเข้าไปด้วย เมื่อประมาณ ๖๐ ปีมาแล้วบิดาจำเลยได้ซื้อที่ดินจากนางแมะนิเนื้อที่ประมาณ ๒๘๐ ตารางวา รวมทั้งที่ดินริมคลองแสนแสบด้วย และครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา ๓๓ ปี บิดาจำเลยตายไปแล้วจำเลยครอบครองต่อมา เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดปักแนวเขตคลองแสนแสบคงเหลือเป็นที่ดินของจำเลยเนื้อที่ประมาณ ๒๒๒ ตารางวา ราคา ๓๐,๐๐๐ บาทขอให้ยกฟ้องโจทก์ และฟ้องแย้งให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมระหว่างโจทก์กับนางอิมเฉพาะที่ดินที่เป็นส่วนของจำเลยครอบครองและแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะคำให้การจำเลย ส่วนฟ้องแย้งมีคำสั่งไม่รับ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รับฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา โดยศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ โจทก์จำเลยทราบวันนัดแล้วถึงวันนัดโจทก์ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังโดยถือว่าโจทก์ได้ทราบการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยว่ารับฟ้องแย้งจำเลย ให้นัดชี้สองสถานวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๒ หมายแจ้งวันนัดให้โจทก์ทราบโดยจำเลยเป็นผู้นำส่ง
วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๒ โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนัด ขณะนี้อยู่ในระหว่างที่โจทก์มีสิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โจทก์จึงขอยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งมาพร้อมคำร้องนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ถือว่าโจทก์ทราบการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วโจทก์มายื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งในวันนี้พ้นกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๘ วรรคแรก ให้รับคำให้การแก้ฟ้องแย้งเป็นคำแถลง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๒๗, ๒๒๘ ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์เพราะยื่นเกินกำหนดนั้น เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘(๓) ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา และพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การแก้ฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การส่วนฟ้องแย้งสั่งไม่รับ ถือว่าโจทก์ได้รับเฉพาะคำให้การของจำเลยไปแล้วเท่านั้น ครั้นศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งให้ส่งหมายเรียกและฟ้องแย้งให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งยื่นต่อศาลภายในแปดวันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๗ วรรคแรก หากจะถือว่าโจทก์ได้รับฟ้องแย้งของจำเลยซึ่งรวมอยู่ในคำให้การด้วยแล้วศาลชั้นต้นก็ได้แต่เพียงบันทึกในหมายเรียกว่าฟ้องแย้งรวมอยู่ในคำให้การที่โจทก์รับไปศาลชั้นต้นจะงดออกหมายเรียกให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องเสียเลย จึงเป็นการไม่ชอบและระยะเวลาที่กำหนดให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งยื่นต่อศาลภายในแปดวันต้องนับตั้งแต่โจทก์ได้รับหมายเรียกแล้ว หาใช่นับตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ ดังนั้น คำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์จึงชอบที่จะรับไว้พิจารณา
พิพากษายืน

Share