คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ และจะชำระต้นเงินกู้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 180 เดือน นับตั้งแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป โดยจะผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนหากผิดนัดชำระต้นเงินคืนและหรือดอกเบี้ยเป็นรายเดือนตามกำหนดดังกล่าวไม่ว่าเดือนหนึ่งเดือนใดยอมให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ทั้งหมดเมื่อถึงกำหนดผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่23 พฤษภาคม 2535 จำเลยมิได้ผ่อนชำระหนี้เดือนละ 27,000 บาทให้แก่โจทก์ตามกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยย่อมได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีตามข้อตกลงในสัญญากู้เงิน เมื่อปรากฏว่าในวันที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่โจทก์กับจำเลยก็ตกลงกันกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี เพียงแต่ตกลงกันตามข้อ 2แห่งสัญญากู้เงินดังกล่าวว่า ถ้าต่อไปอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นหรือต่ำลงยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่า หลังจากกู้ยืมเงินกันแล้วอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่าที่ตกลงกันไว้โจทก์จึงจะมีอำนาจปรับอัตราดอกเบี้ยได้ แต่โจทก์มิได้นำสืบ ให้เห็นว่า หลังจากกู้ยืมเงินกันแล้ว ได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยหรือประกาศธนาคารพาณิชย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 14 ต่อปี เป็นร้อยละ 17 ต่อปีโดยปรับในวันถัดจากวันทำสัญญาและให้มีผลตั้งแต่วันทำสัญญา ไม่ต้องด้วยข้อกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจปรับอัตรา ดอกเบี้ยขึ้นใหม่ตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน2,460,448.70 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา หลังจากที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปแล้วจำเลยที่ 1ปฏิบัติตามสัญญาโดยไปติดต่อขอผ่อนชำระหนี้คืนโจทก์ตามกำหนดในสัญญา แต่โจทก์กลับเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาโดยเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 17 ต่อปีสูงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ตามสัญญาโดยไม่มีอำนาจที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าได้ การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2535 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 2,000,000 บาท ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีตามประเพณีการค้าของธนาคารและตกลงว่าถ้าต่อไปอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นไปอีกก็ดี หรืออัตราต่ำลงประการใด จำเลยที่ 1ยอมรับที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่โจทก์จะได้กำหนดขึ้นใหม่ไม่ว่าโจทก์จะได้บอกกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตามและจะชำระต้นเงินกู้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 180 เดือนนับตั้งแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป โดยจะผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 27,000 บาท ทั้งจะเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2535 และทุก ๆ วันสิ้นเดือนของเดือนต่อ ๆ ไปไม่ให้ขาดระยะจนกว่าจะชำระเสร็จ หากผิดนัดชำระต้นเงินคืนและหรือดอกเบี้ยเป็นรายเดือนตามกำหนดดังกล่าวไม่ว่าเดือนหนึ่งเดือนใดยอมให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ทั้งหมด ทั้งยอมชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้ในขณะผิดนัดนับตั้งแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าผิดนัดหรือไม่เห็นว่า เมื่อถึงกำหนดผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่23 พฤษภาคม 2535 จำเลยที่ 1 มิได้ผ่อนชำระหนี้เดือนละ27,000 บาท ให้แก่โจทก์ ตามกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1ย่อมได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 และโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้วจึงบังคับจำนองให้ตามที่โจทก์ขอ ทั้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้ด้วย
ที่โจทก์ฎีกาว่ามีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับแต่วันกู้ยืมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2535 ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงในข้อ 2 แห่งสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4และตามอำนาจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ปรับได้นั้นเห็นว่า ในวันที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.9แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ตกลงกันกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีเพียงแต่ตกลงกันตามข้อ 2 แห่งสัญญากู้เงินดังกล่าวว่า ถ้าต่อไปอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นหรือต่ำลง ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่า หลังจากกู้ยืมเงินกันแล้วอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่าที่ตกลงกันไว้โจทก์จึงจะมีอำนาจปรับอัตราดอกเบี้ยได้ แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า หลังจากกู้ยืมเงินกันแล้วได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยหรือประกาศธนาคารพาณิชย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้นการที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 14 ต่อปี เป็นร้อยละ17 ต่อปี โดยปรับในวันถัดจากวันทำสัญญาและให้มีผลตั้งแต่วันทำสัญญาตามที่ระบุในคำฟ้องโจทก์และเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10จึงไม่ต้องด้วยข้อกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่ตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินดังกล่าว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่ามีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 นั้น เห็นว่า ที่โจทก์อ้างสิทธิตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.9ประกอบข้อ 4 แห่งสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 แต่ได้ความจากเอกสารท้ายคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าได้มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 23พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 เอกสารหมาย จ.9 และให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดได้ไม่เกินอัตราที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด ซึ่งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้ได้ความว่า นับแต่วันที่1 มกราคม 2536 มีประกาศของโจทก์ในฐานะธนาคารพาณิชย์กำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราเท่าใด เท่ากับว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ความว่า ดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 มีอัตราเท่าใด ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันกู้ยืมเงินจนกว่าจะชำระเสร็จ
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้น 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 เมษายน 2535จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้และหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

Share