คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันนัดชี้สองสถาน เนื้อหาสาระที่ขอแก้ไขมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งเป็นข้อต่อสู้ที่มีพื้นฐานข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อนจำเลยที่ 1 และที่ 2 อาจยกขึ้นต่อสู้ได้ก่อนวันชี้สองสถาน และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ระบุอ้างเหตุขัดข้องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวได้ก่อนวันชี้สองสถาน คำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วรรคสอง (2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของนายสมพร สุอุปถัม ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ค้นเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 742,592 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า เหตุละเมิดมิได้เกิดจากความผิดของลูกจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่เป็นความผิดของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า นายสมพรคนขับรถคันเกิดเหตุมิใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หากรับผิดก็ไม่เกิน 250,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจของบริษัทโจทก์ หนังสือมอบอำนาจไม่ระบุว่าให้ฟ้องต่อศาลใดในความผิดใดนายปริญญา จุฬพันธ์ทอง ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่อาจฟ้องคดีนี้ได้ ขณะเกิดเหตุนายสมพรคนขับรถคันเกิดเหตุ มิใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้เป็นฝ่ายประมาท ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องสูงเกินส่วน โจทก์คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นในวันนัดชี้สองสถานเนื้อหาสาระที่ขอแก้ไขมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งเป็นข้อต่อสู้ที่มีพื้นฐานข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 อาจยกขึ้นต่อสู้ได้ก่อนวันชี้สองสถานและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ระบุอ้างเหตุขัดข้องที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวได้ก่อนวันชี้สองสถาน คำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วรรคสอง(2) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยตรงกันให้ยกคำร้องนั้นถูกต้องแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share