แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับและควบคุมตัวฐานกบฎไว้แล้วไม่ได้ทำอะไรขึ้นอีกระหว่างนั้น ผู้ใดร่วมกันเพทุบายควบคุมตัวเขาไปฆ่าเสียนั้น ย่อมไม่ใช่เป็นการกระทำอันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามอันจะถือว่าไม่เป็นความผิด ตามพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499 มาตรา 4
ในกรณีที่จำเลยกับพวกเจ้าพนักงานตำรวจได้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยนำผู้ต้องหาไปฆ่าเสียนั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ การชันสูตรพลิกศพผู้ตายจึงไม่ต้องมีผู้พิพากษาร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสอง
ขณะเกิดเหตุยังมิได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา นั้น จะเอาความในมาตรา 289(4) มาใช้ไม่ได้ เพราะมาตรานี้ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำผิดในทางใด
เมื่อพยานหลักฐานไม่ได้ความชัดว่า จำเลยได้ร่วมรู้ในแผนการณ์ที่จะกำจัดผู้ตายมาก่อน ไม่เคยมีสาเหตุกับผู้ตาย บางคนก็ไม่รู้จักกัน การกระทำของจำเลยเห็นได้ว่าเป็นเครื่องมือของผู้อื่นที่ใช้ให้กระทำ จึงถือไม่ได้ว่ากระทำโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย อนึ่งปรากฏว่าผู้ตายถูกยิงด้วยปืนกลตายทันที จึงถือไม่ได้ว่ากระทำโดยทรมานหรือแสดงความโหดร้ายให้ผู้ตายได้รับความลำบากอย่างสาหัส
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 63, 249, 250 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 288, 289 ฯลฯ โดยกล่าวบรรยายในฟ้องใจความสำคัญว่า เมื่อระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม 2492เวลากลางคืน จำเลยได้สมคบกับพวกที่หลบหนีใช้อาวุธปืนยิงนายทองเปลวชลภูมิ กับพวกรวม 4 คน ซึ่งถูกจับและควบคุมไว้โดยเจ้าพนักงานตำรวจตายโดยไตร่ตรอง พยายามด้วยความพยาบาทมาดหมายทรมานทารุณโหดร้ายแสดงความดุร้ายแก่ผู้ตายให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัส
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ตลอดชีวิตยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 เพราะพยานโจทก์ไม่มั่นคง
โจทก์อุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 และให้ลงโทษจำเลยทุกคนในสถานหนัก ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกาต่อมา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า
(1) ตามรูปคดีน่าเชื่อว่าผู้ตายทั้ง 4 ถูกนำตัวพาไปกำจัดเสียตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจขณะนั้น และผู้ตายถูกยิงถึงแก่ความตายด้วยน้ำมือของเจ้าพนักงานตำรวจที่ควบคุมตัวผู้ตายไปนั้นเอง
(2) จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้ร่วมกันกระทำความผิดดังที่ศาลอาญา และศาลอุทธรณ์ฟังมา พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้
(3) ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นการชอบแล้ว
ที่จำเลยโต้เถียงในปัญหากฎหมายว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์ได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ25 พุทธศตวรรษ นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า ข้อความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 นี้บัญญัติถึงการกระทำอันอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด คือ การกระทำอันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกบฏ การก่อการจราจลหรือการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น ซึ่งเป็นความผิดทำนองเดียวกันหรือการพยายาม หรือการตระเตรียมกระทำการดังกล่าว แต่ในคดีนี้เป็นกรณีโจทก์ฟ้องจำเลยว่าสมคบกันเพทุบายไปขอรับตัวผู้ตายทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ต้องหาจากที่คุมขังของเจ้าพนักงานตำรวจแล้วควบคุมไปหยุดรถสมคบกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ต้องหาในขณะควบคุมนั้นจนถึงแก่ความตายโดยเจตนาจึงมิใช่เป็นการกระทำอันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกันระงับหรือปราบปรามกบฎการก่อการจราจล ฯลฯ ดังที่พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุไว้ ผู้ต้องหาแม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎก็ได้ถูกจับกุมควบคุมตัวอยู่แล้ว และไม่ได้ความว่าผู้ต้องหาได้กระทำอะไรขึ้นอีกภายหลังเมื่อได้ถูกควบคุมตัวแล้ว การที่ร่วมมือกันเพทุบายควบคุมตัวผู้ต้องหาพาไปฆ่าเสีย มิใช่เป็นการกระทำอันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามอย่างใดอันจะเข้าลักษณะที่พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้ถือว่าไม่เป็นความผิด
ปัญหาข้อกฎหมายอีกข้อหนึ่งที่จำเลยโต้เถียง คือ การชันสูตรพลิกศพผู้ตายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีผู้พิพากษาร่วมด้วยในข้อนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสอง ซึ่งใช้ขณะเหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. 2492 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความตามกฎหมายบทนี้หมายความว่า ถ้าความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ การชันสูตรพลิกศพจึงจะต้องกระทำพร้อมด้วยผู้พิพากษาคดีนี้ได้ความว่า จำเลยกับพวกเจ้าพนักงานตำรวจได้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยนำเอาผู้ต้องหาทั้งสี่ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ไปฆ่า จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ฉะนั้น การชันสูตรพลิกศพผู้ตายในคดีนี้จึงหาจำเป็นต้องมีผู้พิพากษาร่วมด้วยไม่
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยกับพวกเข้าลักษณะตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 63, 250 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289 นั้น เห็นว่าในข้อที่ว่าได้ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาโดยเฉพาะ แต่คดีนี้เกิดขึ้นก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา และตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาก็ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำความผิดในทางใด จึงนำความในข้อว่า “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) มาใช้ไม่ได้ส่วนข้อที่ว่าได้ฆ่าผู้ตายโดยพยายามด้วยความพยายามมาดหมาย ทั้งเป็นการกระทำโดยทรมาน โดยกระทำทารุณโหดร้ายหรือแสดงความดุร้ายแก่ผู้ตายทั้งสี่ให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัสซึ่งมีบัญญัติเป็นความผิดไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 250(3)(4) เว้นแต่การฆ่าโดยกระทำทารุณโหดร้าย นั้น ตามพยานหลักฐานในสำนวนไม่ได้ความชัดว่า จำเลยได้ร่วมรู้ในแผนการณ์ที่จะกำจัดผู้ตายมาก่อนผู้ตายกับจำเลยทุกคนไม่มีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกัน และจำเลยบางคนก็ไม่เคยรู้จักผู้ตายมาก่อน การกระทำของจำเลยเหล่านี้พอเห็นได้ว่าเป็นเครื่องมือของผู้อื่นที่ใช้ให้กระทำ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย ส่วนข้อที่ว่าเป็นการกระทำโดยทรมานหรือแสดงความดุร้ายแก่ผู้ตายให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัสนั้น ก็ปรากฏว่าผู้ตายทั้งสี่ถูกยิงด้วยปืนกล ถึงแก่ความตายทันทีนั้นเอง ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยทรมานหรือแสดงความดุร้ายแก่ผู้ตายให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัส
ศาลทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์จำเลยไม่มีเหตุจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงพิพากษายืน