คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา13 บัญญัติห้ามผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 1 หรือประเภท 2 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ซึ่งมาตรา 4 ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ขาย” ว่าหมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบ หรือมีไว้เพื่อขาย ฉะนั้น การขายหรือมีไว้เพื่อขายตามนัยแห่งพ.ร.บ. ฉบับนี้จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน.
จำเลยมีแอมเฟตามีนคลอไรด์ อัน เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครอง 18 เม็ด และจำเลยขายแอมเฟตามีนคลอไรด์ ดังกล่าวให้แก่ผู้ล่อซื้อไป 3 เม็ด ยังเหลืออยู่ที่ตัวจำเลย 15 เม็ด แอมเฟตามีนคลอไรด์ ทั้ง 18เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยครอบครองและขายไปในเวลาต่อเนื่องกัน การครอบครองในลักษณะเช่นนี้ก็คือการมีไว้เพื่อขายนั่นเอง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ประกอบด้วยมาตรา 106 อีกกรรมหนึ่ง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีแอมเฟตามีนคลอไรด์จำนวน 18 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตและขายแอมเฟตามีนคลอไรด์ดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อจำนวน 3 เม็ด โดยไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา4, 6, 13, 62, 89, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ริบแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรให้เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13, 89, 116ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และริบแอมเฟตามีนของกลาง ธนบัตรฉบับละ50 บาท ที่ใช้ล่อซื้อให้คืนเจ้าของ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด 2 กรรม คือฐานมีแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองกรรมหนึ่งกับฐานขายแอมเฟตามีนอีกกรรมหนึ่ง โดยความผิดฐานมีแอมเฟตามีนได้สำเร็จสมบูรณ์ตั้งแต่จำเลยรับแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก่อนที่จะมีการขาย ซึ่งเป็นความผิดมีโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 และโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษฐานนี้โดยบรรยายฟ้องไว้ในข้อ ก. ความผิดฐานนี้โจทก์ไม่ต้องสืบพยานประกอบ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลย่อมลงโทษจำเลยได้ เห็นว่า พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ได้บัญญัติห้าม ผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 หรือประเภท 2 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ขาย” ว่าหมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจกแลกเปลี่ยน ส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขาย ฉะนั้น การขายหรือมีไว้เพื่อขายตามนัยแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยมีแอมเฟตามีนคลอไรด์อันเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครองจำนวน 18 เม็ด และจำเลยได้ขายแอมเฟตามีนคลอไรด์ดังกล่าวให้แก่สิบตำรวจเอกนิพัฒน์ ทองไชยผู้ล่อซื้อไป 3 เม็ด ยังเหลืออยู่ที่ตัวจำเลย 15 เม็ดแอมเฟตามีนคลอไรด์ทั้ง 18 เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยได้ครอบครองและขายไปในเวลาต่อเนื่องกัน การครอบครองในลักษณะเช่นนี้ก็คือการมีไว้เพื่อขายนั่นเองเมื่อศาลลงโทษฐานขายแอมเฟตามีนคลอไรด์ จึงต้องถือว่าจำเลยถูกลงโทษตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 62 ประกอบด้วยมาตรา 106 อีกกรรมหนึ่ง และการที่โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยเป็น 2 ข้อ คือฐานครอบครองแอมเฟตามีนคลอไรด์ข้อหนึ่ง และฐานขายแอมเฟตามีนคลอไรด์อีกข้อหนึ่งนั้น หาทำให้การกระทำของจำเลยซึ่งกฎหมายมุ่งลงโทษเพียงกรรมเดียวกลายเป็นความผิด 2 กรรมไปไม่ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษเป็นหลายกรรมตามที่โจทก์ฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานขายแอมเฟตามีนคลอไรด์เพียงกรรมเดียว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share